เมื่อ แคล เตเวซ (นามสมมติ) ศัลยแพทย์ชาวฟิลิปปินส์ไปร่วมโครงการฝึกงาน 6 เดือนที่โรงพยาบาลในสิงคโปร์ เธอต้องปรับตัวหลายอย่าง
จากที่ทำงานในโรงพยาบาลที่ดูแลคนยากจนในประเทศที่กำลังพัฒนา เธอได้มาอยู่ในโรงพยาบาลที่มีเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัยในประเทศที่ร่ำรวยกว่ามาก
แต่สิ่งที่เธอต้องแปลกใจอีกประการหนึ่งคือ โรงพยาบาลแห่งนี้ใช้พลาสติกเป็นจำนวนมหาศาลแค่ไหน
ในห้องผ่าตัด เครื่องมืออย่างเครื่องถ่างแผลพลาสติกต้องกลายเป็นขยะทางการแพทย์เมื่อการผ่าตัดแต่ละครั้งเสร็จสิ้นลง ขณะที่ในฟิลิปปินส์ เธอและเพื่อนแพทย์ต้องนำเครื่องมือเหล่านี้ไปทำความสะอาดฆ่าเชื้อเอากลับมาใช้ใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า
นี่ทำให้เธอตัดสินใจแอบเก็บเครื่องมือที่ทำจากพลาสติกสำหรับใช้ครั้งเดียวเหล่านี้ไว้โดยได้ความช่วยเหลือจากเพื่อนแพทย์ที่สนับสนุนเธอ ในที่สุด เธอก็เก็บสะสมเครื่องมือเหล่านี้จนใส่เต็มกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ได้
แต่การพูดคุยเรื่องผลกระทบของวงการแพทย์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมมักทำให้เกิดประเด็นถกเถียง เพราะถึงที่สุดแล้ว การช่วยชีวิตคนไข้ตรงหน้าก็สำคัญกว่าข้อกังวลอื่นใด
เตเวซก็เห็นด้วยในเรื่องนี้ ที่เธอเก็บสะสมเครื่องมือจากที่โรงพยาบาลนี้ก็เพื่อไปช่วยเหลือคนไข้ของเธอที่ฟิลิปปินส์เหมือนกัน และหากมองในมุมนี้ การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืนก็เป็นการช่วยเหลือคนไข้เช่นกัน
องค์กรการดูแลสุขภาพที่ปราศจากผลอันตราย(Health Care Without Harm) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร ระบุว่า หากนับระบบสาธารณสุขในประเทศต่าง ๆ เป็นประเทศหนึ่ง ประเทศดังกล่าวจะเป็นประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับที่ 5 ของโลก เทียบเท่ากับการปล่อยคาร์บอนของโรงงานผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน 514 แห่ง หรือร้อยละ 4.4 ของการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดทั่วโลก
ราคาของของเสีย
ปัญหาสำคัญเรื่องขยะทางการแพทย์คือ แพทย์ที่ทำงานแผนกฉุกเฉินมองว่าการรักษาคนไข้และการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ไปด้วยกันไม่ได้ ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
ดูอุปกรณ์ที่ทำจากพลาสติกสำหรับใช้ครั้งเดียวเป็นตัวอย่าง เจ้าหน้าที่สาธารณสุขมองว่าอุปกรณ์ลักษณะนี้สำคัญเพราะช่วยลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรค และโควิด-19 ก็เป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมในเรื่องนี้
อย่างไรก็ดี มีขยะทางการแพทย์ 15% เท่านั้นที่เป็น "ขยะอันตราย" ที่อาจทำให้เชื้อแพร่ระบาด เป็นพิษ หรือปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ขยะทางการแพทย์อีก 85% ไม่ต่างจากขยะตามครัวเรือนทั่วไป
แล้วหากดูเรื่องต้นทุนล่ะ ?
มองกันว่าการใช้อุปกรณ์ที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งใช้ต้นทุนต่ำกว่า ส่วนอุปกรณ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษเพื่อป้องกันการติดเชื้อและการเสื่อมสภาพ
แต่ในระยะยาวแล้ว การใช้เครื่องมืออุปกรณ์แล้วเปลี่ยนใหม่ต้องใช้ต้นทุนสูงกว่า
ทีมศัลยแพทย์ด้านประสาทที่โรงพยาบาลในแคนาดาแห่งหนึ่งสามารถลดต้นทุนได้ 5.7 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 30% เมื่อใช้อุปกรณ์ที่ใช้ได้ครั้งเดียวน้อยลง
ถุงมือพลาสติกเป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง โซเนีย รอสช์นิค อดีตผู้อำนวยการหน่วยเพื่อพัฒนาความยั่งยืนของสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) ของอังกฤษ เล่าว่า เมื่อพยาบาลที่โรงพยาบาลเกรต ออร์มอนด์ สตรีท (Great Ormond Street) ในกรุงลอนดอนถูกเตือนว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องใส่ถุงมือเวลาเปลี่ยนที่นอนคนไข้หรือว่าอาบน้ำให้เด็กทารก แต่สามารถล้างมือเอาก็ได้ โรงพยาบาลสามารถประหยัดเงินได้ถึง 1.2 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ ไม่ต้องใช้พลาสติกที่มีน้ำหนักรวมถึง 21 ตัน
ในปี 2018 แบบสำรวจที่ทำขึ้นที่ มาโย คลินิก (Mayo Clinic) ศูนย์แพทย์ไม่แสวงหาผลกำไร 4 แห่งทั่วสหรัฐฯ พบว่า
- อุปกรณ์ที่ทำจากพลาสติกที่ใช้เพียงครั้งเดียวคิดเป็น 20% ของขยะทางการแพทย์ทั้งหมด
- 57% ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจไม่ทราบว่าอุปกรณ์ในห้องผ่าตัดชิ้นไหนสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
- 39% ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจบอกว่าเคยนำอุปกรณ์เก่ากลับมาใช้ใหม่บางครั้งหรือไม่เคยเลย
- 39% ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจไม่มีความรู้เรื่องการรีไซเคิล
โจดี เชอร์แมน รองศาสตราจารย์ด้านวิสัญญีวิทยาจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล และเพื่อนร่วมวิจัยของเธอบอกว่า เกณฑ์วัดผลความสำเร็จหรือล้มเหลวของระบบสาธารณสุขตามธรรมเนียมยังไม่ได้รวมเรื่องขยะทางการแพทย์เข้ามาเป็นปัจจัยหนึ่งด้วย
โซเนีย รอสช์นิค ซึ่งตอนนี้มาเป็นผู้อำนวยการด้านนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศขององค์กรการดูแลสุขภาพที่ปราศจากผลอันตราย บอกว่า วิกฤตโควิด-19 อาจเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่ "เพราะคนอาจตระหนักว่าการทำให้สิ่งแวดล้อมแย่ลง คนเรายิ่งต้องเผชิญกับโรคภัยประเภทนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ"
"สุขภาพ" ของสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ช่วยประหยัดต้นทุนให้กับภาคสาธารณสุขได้ด้วย
ในสหรัฐฯ ศูนย์แพทย์บอสตัน (Boston Medical Center) ซื้อกระแสไฟฟ้าจากโรงงานผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ และสามารถลดต้นทุนได้ถึง 25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ศูนย์แพทย์คลีฟแลนด์คลินิก (Cleveland Clinic) ลงทุนสร้างอาคารที่ได้รับใบรับรองระดับสากลว่าช่วยประหยัดพลังงานได้ เป็นผลให้ลดการใช้พลังงานได้ถึง 19% ซึ่งเท่ากับประหยัดเงินไป 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นอกจากนี้ โรงพยาบาลหลายแห่งก็ยังเริ่มคิดวิธีที่จะลด "คาร์บอนฟุตพรินต์" หรือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกระบวนการจัดหาอาหาร ยกตัวอย่างเช่น ศูนย์แพทย์มหาวิทยาลัยวอชิงตัน (The University of Washington Medical Center) ที่หันไปร่วมมือกับสหภาพชาวไร่ในท้องถิ่นในการจัดหาอาหารให้กับคนไข้
นอกจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว วงการแพทย์ยังต้องพึ่งก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ เช่น แก๊สยาสลบอย่าง เดสฟลูเรน, ซีโวฟูแรนซ์ และไนตรัสออกไซด์ อีกด้วย
เพียง 5% ของแก๊สเหล่านี้จะเข้าไปอยู่ในระบบร่างกายคนไข้ขณะผ่าตัด ส่วนที่เหลือจะกลายเป็นขยะทางการแพทย์
แก๊สที่มีสารประกอบอินทรีย์ของธาตุฮาโลเจนเหล่านี้มีศักยภาพทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 2,000 เท่า และนักวิจัยเริ่มเสนอแล้วว่าควรเริ่มใช้เทคโนโลยีในการจับและเก็บแก๊สเหล่านี้ไว้ในกระป๋องแทนที่จะปล่อยให้เป็นขยะทางการแพทย์
ความพยายามของแคล เตเวซ ที่โรงพยาบาลในสิงคโปร์ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การดูแลรักษาคนไข้อย่างดีที่สุดและความคิดเรื่องความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมไปด้วยกันได้ และในสถานการณ์ที่ดูเหมือนทั้งสองจะไปด้วยกันไม่ได้ เราสามารถออกแบบระบบการรักษาในโรงพยาบาลเสียใหม่ทำให้คนเราไม่ต้องเลือกระหว่างการรักษาชีวิตคนไข้กับการรักษาสิ่งแวดล้อม
เมื่อพิจารณาว่ามลพิษทางอากาศ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และขยะพลาสติก สามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพคนเราได้แค่ไหน จริง ๆ แล้วการปฏิรูประบบการแพทย์อาจเป็นโอกาสที่เราจะช่วยชีวิตคนได้อีกมากมาย
August 19, 2020 at 11:57AM
https://ift.tt/2FvMVNi
โควิด-19: ปัญหาขยะทางการแพทย์แก้ไขอย่างไรดี เพื่อรักษาทั้งชีวิตและสิ่งแวดล้อม - บีบีซีไทย
https://ift.tt/2Y7cf1E
Bagikan Berita Ini
0 Response to "โควิด-19: ปัญหาขยะทางการแพทย์แก้ไขอย่างไรดี เพื่อรักษาทั้งชีวิตและสิ่งแวดล้อม - บีบีซีไทย"
Post a Comment