Search

คอลัมน์ผู้หญิง - ความเกลียดชังไม่ใช่ทางออกของปัญหา - หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://ift.tt/2XZS4CW

การเหยียดเชื้อชาติ กลับมาเป็น Talk of The Town หรือประเด็นที่โลกให้ความสนใจอีกครั้ง หลังการเสียชีวิตของนายจอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ชายผิวสีชาวอเมริกัน วัย 46 ปี ที่เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของตำรวจ ในเมืองมินนิอาโปลิส รัฐมินนิโซตา ภายหลังการถูกเข้าจับกุมด้วยข้อหาการใช้พันธบัตรปลอมเพื่อซื้อสินค้า

แต่การเหยียดเชื้อชาติไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประเด็นการเหยียดเชื้อชาติได้ลุกลามกลายเป็นปัญหาไปทั่วโลก ซึ่ง “อันโตนิโอกัวเตอร์เรซ” (Antonio Guterres)เลขาธิการของสหประชาชาติ ได้ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “การระบาดของโรคยังคงทำให้เกิดคลื่นยักษ์ของความเกลียดชัง โรคเกลียดชาวต่างชาติการหาแพะรับบาปและการดูหมิ่น อาการเหล่านี้ล้วนเริ่มต้นจากความกลัวที่ได้ก่อตัวขึ้น”


ในสหราชอาณาจักรมีการทำร้ายร่างกายชาวเอเชียอย่างอุกอาจช่วงกลางวันแสกๆ หลายกรณี และกลายเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างตึงเครียดบนโลกออนไลน์ และหนักไปถึงขั้นการที่ผู้ติดเชื้อไวรัสชาวยุโรปขอไม่รับการดูแลรักษาจากหมอหรือพยาบาลที่มีเชื้อชาติเอเชีย

และด้วยความเกลียดชังนี้เอง ที่ทำให้กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของจีนออกประกาศเตือนประชาชนของตัวเองที่จะออกเดินทางท่องเที่ยวให้ระมัดระวังตัวเอง เพื่อความปลอดภัย และไม่ควรเดินทางไปออสเตรเลีย เพราะเกิดการเลือกปฏิบัติ และการใช้ความรุนแรงต่อคนจีน และคนเอเชีย ที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากการถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นตอของโรคระบาด

ซ้ำร้ายวิกฤติของคนเอเชียต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังถูกทำให้เลวร้ายขึ้น เมื่อประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา “โดนัล ทรัมป์” ได้พยายามสื่อสารความหมายของที่มา “ไวรัสโควิด-19” ด้วยการใช้คำว่า “ไวรัสจีน”ในการทวีตข้อความลงบนโลกออนไลน์ ในประโยคที่ว่า “สหรัฐฯ จะให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างแข็งขัน เช่น ธุรกิจสายการบินและอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่ได้รับผลกระทบจากไวรัสจีน เราจะแข็งแกร่งขึ้นกว่าที่เคยเป็น” และมาอธิบายต่อหน้าผู้สื่อข่าว เพื่อตอกย้ำในประเด็นเดิมอีกครั้งว่า “สาเหตุก็เพราะมันมาจากจีน ผมแค่ต้องการให้มันถูกต้อง”

ความเกลียดชังต่อคนเอเชียที่เพิ่มมากขึ้นในกรณีดังกล่าวนี้เอง ไม่ต่างกันเลยกับในช่วงหลังของเหตุการณ์ 9/11 (เครื่องบินพุ่งชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ 11 กันยายน 2001 ซึ่งเป็นการโจมตีแบบพลีชีพทางอากาศของกลุ่มอัลกออิดะฮ์)ที่ทำให้ชาวมุสลิมไม่ได้รับการต้อนรับที่ดีนักจากชาวตะวันตก

เช่นเดียวกับคนผิวสี ที่ได้รับการเลือกปฏิบัติ และเหยียดสีผิว ที่ปรากฏในเมืองต่างๆ ของประเทศจีน ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พวกเขาถูกบังคับให้ออกจากบ้าน และไปกักตัวในพื้นที่ที่ทางการกำหนด มีรายงานข่าวว่า ชาวแอฟริกันจำนวนมากถูกตรวจคัดกรองโดยที่ไม่มีอาการ และแม้จะไม่เจอเชื้อไวรัส
แต่พวกเขาก็ต้องถูกกักบริเวณ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการแสดงความคิดเห็นทางออนไลน์จากชาวเนตจีนในเชิงเหยียดเชื้อชาติชาวแอฟริกัน รวมไปถึงกรณีที่มีการส่งต่อภาพป้ายข้อความหน้าร้านแมคโดนัลด์แห่งหนึ่งที่เขียนว่า “ห้ามคนผิวดำเข้าร้าน” ซึ่งล่าสุด แมคโดนัลด์ออกมายืนยันว่า ทางร้านได้นำป้ายดังกล่าวออกแล้ว และยังสั่งปิดสาขาดังกล่าวเป็นการชั่วคราว ก่อนย้ำว่า การกระทำดังกล่าวไม่ได้เป็นการสะท้อนค่านิยมร่วมของบริษัท

นี่เองที่ทำให้ผู้นำแอฟริกันจำนวนมากรู้สึกตกตะลึง จนทำให้ชาติแอฟริกาออกแถลงการณ์แสดงความเจ็บปวด โดยมีประเทศจากแอฟริกา 20 ประเทศร่วมกัเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงทางการจีนว่าการสั่งตรวจและสั่งกักบริเวณเพื่อควบคุมโรคเฉพาะชาวเชื้อสายแอฟริกันนั้น เทียบเท่ากับ“เป็นการเหยียดเชื้อชาติสีผิว” ซึ่งทาง“จ้าวลี่เจียน” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ก็ออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณีการเลือกปฏิบัติและแบ่งแยกเชื้อชาติชาวแอฟริกัน โดยปฏิเสธว่า จีนไม่เคยเพ่งเล็งชาวต่างชาติในการใช้มาตรการล็อกดาวน์ และป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 และยืนยันการปฏิบัติต่อชาวต่างชาติที่อยู่ในจีนทุกคนอย่างเสมอภาค

อินเดีย และศรีลังกา ก็ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่ต่างกัน เมื่อการประกอบกิจกรรมทางศาสนา กลายเป็นข้อหาสำคัญในการสร้าง Super Spreader หรือการแพร่กระจายเชื้อไวรัสที่รุนแรงและรวดเร็ว ดังนั้น ชาวมุสลิมจึงกลายเป็นเป้าในการถูกโจมตีว่า คือต้นตอของไวรัส และการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ก็ไม่ต่างอะไรกับการก่อการร้าย จนกลายเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจอย่างมากในโลกออนไลน์ในประเด็นของ “โคโรนาญิฮาด (Corona Jihad)”

ส่วนที่ยุโรปเองก็มีกรณีของสองนายแพทย์ชาวฝรั่งเศส ที่ออกรายการโทรทัศน์และสนทนากันเกี่ยวกับประเด็นในการทดลองวัคซีนสำหรับไวรัสโควิด-19
ซึ่งพยายามเสนอว่า ควรเอาไปทดลองที่คนแอฟริกา เพราะคนที่นั่นไม่มีการป้องกันตัวที่ดี และระบบสาธารณสุขก็ขาดประสิทธิภาพพร้อมยังหยิบยกตัวอย่างการศึกษาโรคเอดส์ ว่าสังคมแอฟริกันนั้นเหมาะมากเพราะพวกเขาไม่ได้ระมัดระวังตัวเองเลยซึ่งแม้ว่าจะมีการออกมากล่าวขอโทษในภายหลังแล้วก็ตาม แต่ประโยคในการ “เหยียดเชื้อชาติ” อย่างเป็นธรรมชาติตรงนั้นก็ได้ไปสร้างความรู้สึกด้านลบกับใครหลายคนไปเสียแล้ว ถึงขนาดมีประโยคตอบโต้ออกมาจาก “โอลิเวียร์ เฟอเรอร์”นักการเมืองแห่งพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสว่า “แอฟริกาไม่ใช่ห้องแล็บทดลองของยุโรป และคนแอฟริกันไม่ใช่หนู”

กลับมาที่การประท้วงใหญ่โตที่สหรัฐอเมริกา หลายคนอาจมองว่า ปัญหาเรื่องของการเหยียดผิว หรือการเหยียดเชื้อชาติ น่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น เมื่อมีการแสดงออกที่สื่อสารถึงพลังในเรื่องนี้มากพอสมควร และไม่ใช่แค่ที่สหรัฐฯ เท่านั้น เพราะประชาชนในหลายประเทศก็ออกมาแสดงความเห็นและแสดงพลังในเรื่องนี้กันอย่างคึกคัก

แต่ในความเป็นจริงแล้ว เหตุการณ์ในทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตหลายต่อหลายครั้ง และกลายเป็นความหวังถึงโลกที่ไร้ซึ่งการเลือกปฏิบัติ โลกที่เต็มไปด้วยความเสมอภาค โลกที่ทุกคนมีสิทธิในความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันภายหลังการตกลงอย่างสันติ (หรือไม่สันติ) ในแต่ละเหตุการณ์ ซึ่งที่ผ่านมาข้อตกลงหรือความเข้าใจที่ว่านั้น ไม่เคยเก็บงำความเกลียดชังที่เรามีต่อกันในความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติและสีผิวเอาไว้ได้เลย เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มี“สิ่งเร้า” บางอย่างเกิดขึ้น แรงปะทุด้านในก็จะขับความรู้สึกเกลียดชังที่ต้องเก็บเอาไว้ให้หลุดออกมา ไม่ว่า “สิ่งเร้า” นั้นจะเป็นความหวาดระแวงในการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือความไม่พอใจในการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของชายผิวสีก็ตาม

ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ ปฏิกิริยาตอบสนองของคนที่ถูกเกลียดชัง ก็เป็นเสมือนฟืนอย่างดีในการเติมไฟแห่งความเกลียดชังในลักษณะนี้ให้ลุกโชนขยายการเผาไหม้ให้ลุกลามขึ้น รวมไปถึงโลกออนไลน์ที่ไร้พรมแดนกับความคิดเห็นที่ขาดความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของระเบิดเวลาแห่งความเกลียดชังแต่ละลูกที่รอวันปะทุเข้าไปเติมเชื้อไฟทั้งนั้น

ความเกลียดชังไม่สามารถขจัดการระบาดของไวรัสได้ เช่นเดียวกับที่ไม่สามารถทำให้จอร์จ ฟลอยด์ เป็นที่พอใจของนายตำรวจคนนั้นได้ และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ ความเกลียดชังไม่เคยทำให้ปัญหาหมดไป มีแต่จะสร้างปัญหาใหม่ๆ ขึ้นมา ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 หรือการเรียกร้องความรับผิดชอบต่อกรณีของชายผิวสีที่ถูกฆาตกรรม ไม่ควรใช้ความเกลียดชังมาเป็นเครื่องมือในการคลี่คลายสถานการณ์ เพราะที่ผ่านมาก็พิสูจน์กันแล้วว่า ความเกลียดชังมันไม่เคยได้หายไปไหน ตราบที่เรายังคงเก็บความไม่พอใจเอาไว้กันอยู่แบบนี้

Let's block ads! (Why?)




June 14, 2020 at 02:00AM
https://ift.tt/2YvNP29

คอลัมน์ผู้หญิง - ความเกลียดชังไม่ใช่ทางออกของปัญหา - หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://ift.tt/2Y7cf1E


Bagikan Berita Ini

0 Response to "คอลัมน์ผู้หญิง - ความเกลียดชังไม่ใช่ทางออกของปัญหา - หนังสือพิมพ์แนวหน้า"

Post a Comment

Powered by Blogger.