ยังเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก ผลพวงคำสั่งสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 7/2559 “ยุบแท่งพนักงานสอบสวน” ซึ่งเป็นหัวใจของ “ตำรวจ” ที่ผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรมให้กับประชาชน คนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านกลับไม่มีงานทำ ถูกโยกไปนั่งตบยุงอยู่ตามกองบัญชาการ กองบังคับการต่างๆ
พนักงานสอบสวนเป็นงานเฉพาะด้าน ไม่ใช่ใครจะมาทำก็ได้ เมื่อความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานไม่มี พนักงานสอบสวนที่มีอยู่อย่างจำกัดต่างวิ่งเต้นหนีออกจากสายงาน คนที่อยู่ก็ต้องจำยอมก้มหน้าก้มตาแบกภาระงานที่เพิ่มขึ้นแทบไม่มีวันพัก พนักงานสอบสวนบางคนต้องกินนอนที่โรงพัก เวลาให้ครอบครัวไม่ต้องพูดถึง
ถึงแม้สำนักงานตำรวจแห่งชาติพยายามจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งให้บุคคลภายนอกที่มีคุณสมบัติสมัครรับเข้าเป็นพนักงานสอบสวน หรือให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีประกาศนียบัตรครบถ้วนสมัครก็มีเพียงส่วนน้อย ยุ่งเป็น “ลิงแก้แห” เมื่อ ตร.มีคำสั่งให้ปรับเกลี่ยตำแหน่ง รอง สวป.แต่ละโรงพักให้ไปเป็นพนักงานสอบสวน ตำรวจบางคนที่ถูกเลือก ไม่เคยจับเครื่องคอมพิวเตอร์ พิมพ์สำนวนไม่ได้ ข้อกฎหมายไม่แม่น ก่อ “อัตวินิบาตกรรม” ประจานความล้มเหลวองค์กรหลายราย
“บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้เรียกพนักงานสอบสวนทั่วประเทศมาพูดคุยหาแนวทางการแก้ปัญหา สรุปตั้ง “กองบังคับการกฎหมายและคดี” และเมื่อต้นปี ครม.เห็นชอบอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงแบ่งเป็นส่วนราชการเป็นกองบังคับการ สังกัดตำรวจภูธรภาค 1-9 เพื่อเป็นการแก้ปัญหา โดยตัดโอนพนักงานสอบสวนที่ถูกโยกไปอยู่ตาม บช.และ บก.ให้มีงานทำ โดยมีหน้าที่พิจารณาความเห็นแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการในสำนวนคดีอาญา คดีอุทธรณ์ และคดีฎีกาที่พนักงานอัยการมีความสั่งไม่ฟ้อง ถึงแม้ขบวนการขั้นตอนต่างๆ จะผ่านกฎระเบียบข้อบังคับ แต่จนป่านนี้ยังไม่เป็นรูปธรรมที่สามารถจับต้องได้ และก็ยังไม่แน่ว่าการตั้ง บก.กฎหมายและคดีจะแก้ปัญหาได้แค่ไหน เพราะพนักงานสอบสวนตามโรงพักยังต้องทำงานหนักเหมือนเดิม
ปัญหาพนักงานสอบสวนขาดแคลน “บิ๊กแป๊ะ” ทราบดีนับตั้งแต่มานั่งเก้าอี้ “ผบ.ตร.” วันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา “ผบ.แป๊ะ” เซ็นหนังสือสั่งพนักงานสอบสวนที่ไปช่วยราชการกลับปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งตามเดิมภายใน 7 วัน เนื้อหาระบุ ด้วย ตร.มีนโยบายที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพงานสอบสวน เนื่องจากปัจจุบันประสบปัญหาการขาดแคลนข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านสอบสวน โดยมีสาเหตุหนึ่งมาจากผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจหรือหน่วยต่างๆ มีคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่อื่นที่มิใช่งานสอบสวน ทำให้เกิดผลกระทบต่อการบริการประชาชนในการอำนวยความยุติธรรม ดังนั้น เพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมกับประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับเพื่อให้การบริหารงานบุคคลในภาพรวม ตร.เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงให้ดำเนินการ ดังนี้
1.ยกเลิกคำสั่งที่สั่งการให้ข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านสอบสวนไปปฏิบัติราชการใน ตร. และการไปช่วยราชการนอกสังกัด ตร. การไปปฏิบัติราชการหรือการอนุมัติเดินทางไปปฏิบัติราชการของศูนย์ปฏิบัติการต่างๆ รวมถึงการไปรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญทุกกรณี เว้นแต่ 1.1 คำสั่งให้ข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านสอบสวนในสถานีตำรวจไปปฏิบัติราชการงานสอบสวนในสถานีตำรวจ 1.2 คำสั่งให้ข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านสอบสวนที่ไม่ใช่ในสถานีตำรวจไปปฏิบัติราชการงานสอบสวนในสถานีตำรวจหรืองานสอบสวนอื่น และ 1.3 คำสั่งให้ข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านสอบสวนที่มีกรณีเป็นที่สงสัยว่าประพฤติบกพร่องต่อหน้าที่ หรือมีกรณีเป็นที่สงสัยว่ากระทำความผิดทางวินัย หรืออยู่ระหว่างต้องหาในคดีอาญาหรือถูกฟ้องคดีอาญา หากให้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานเดิมอาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ ทั้งนี้ ให้ส่งตัวข้าราชการตำรวจกลุ่มดังกล่าวกลับไปปฏิบัติหน้าที่ตามตำแหน่งเดิมภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่สั่งการนี้
กรณีการช่วยราชการนอกสังกัด ตร. ให้ สกพ.มีหนังสือแจ้งให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานที่ขอตัวข้าราชการตำรวจไปช่วยราชการส่งตัวข้าราชการตำรวจกลุ่มดังกล่าวกลับตันสังกัด สำหรับการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ ให้ บช.ส.ดำเนินการ ให้หัวหน้าสถานีตำรวจหรือผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดระดับ บก. แล้วแต่กรณี ติดตามข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านสอบสวนที่ถูกยกเลิกคำสั่งข้างตันกลับไปปฏิบัติหน้าที่ตามตำแหน่งเดิมทุกรายภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่สั่งการนี้ หากข้าราชการตำรวจดังกล่าวยังไม่กลับมาปฏิบัติหน้าที่ ให้รายงาน ตร. (ผ่าน สกพ.) ทราบภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่สั่งการ
2.ห้ามมิให้ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจทุกระดับชั้นสั่งให้ข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านสอบสวนไปปฏิบัติราชการใน ตร. หรือการปฏิบัติหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการต่างๆ การไปช่วยราชการนอกสังกัด ตร. รวมถึงการไปรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ เว้นแต่เป็นการสั่งการตามข้อ 1.1 ถึง 1.3 หรือมีเหตุผลความจำเป็นอย่างยิ่ง ตร.จะพิจารณาเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายไป
3.ให้หัวหน้าสถานีตำรวจจัดให้ข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านสอบสวนทุกรายอยู่ปฏิบัติหน้าที่เข้าเวรสอบสวน โดยให้ปฏิบัติหน้าที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป ตามประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 25 เวรยาม สายตรวจ กองรักษาการณ์ บทที่ 8 พนักงานสอบสวนเวร เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง และกำชับให้หัวหน้าสถานีตำรวจควบคุม กำกับ ดูแลการปฏิบัติของข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านสอบสวนให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนอย่างเคร่งครัด ตามคำสั่ง ตร. ที่ 354/2562 ลง 20 มิถุนายน 2562 เรื่องหน้าที่รับผิดชอบในการอำนวยความยุติธรรมทางอาญาของหัวหน้าพนักงานสอบสวน
4.กรณีจำเป็นอย่างยิ่งที่ข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านสอบสวนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ด้านสอบสวนได้ตามปกติ ในการเบิกจ่ายเงินเพิ่มเป็นกรณีพิเศษให้แก่ข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่งผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านสอบสวนและปฏิบัติหน้าที่ด้านสอบสวน ให้หน่วยต่างๆ ดำเนินการเป็นไปด้วยความถูกต้องและตามความเป็นจริง โดยยึดถือระเบียบ ก.ตร.ว่าด้วยเงินเพิ่มเป็นกรณีพิเศษสำหรับตำแหน่งผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านสอบสวน พ.ศ.2559 อย่างเคร่งครัด และหากตรวจพบว่ามีการฝ่าฝืนจะพิจารณาข้อบกพร่องผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้น
5.ให้ จต. สตส. และผู้บังคับบัญชาระดับ บช. และ บก. ที่รับผิดชอบงานจเรตำรวจ ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนเวรทุกรายแล้วบันทึกผลการตรวจให้ชัดเจน โดยผลการตรวจสอบจะต้องสอดคล้องกับสถิติการรับคดีในระบบ CRIMES และคำสั่งการให้ปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนเวร โดยหากพบข้อบกพร่องให้ดำเนินการทางวินัยตามอำนาจหน้าที่แล้วรายงานให้ ตร.ทราบ
คำสั่ง “ผบ.แป๊ะ” ครั้งนี้เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ตรงจุด ถึงแม้จะไปสมบูรณ์แบบเหมือนที่มีแท่งพนักงานสอบสวนมาก่อน เหล่าพนักงานสอบสวนที่ดิ้นหนีงานสอบสวนไปอยู่ตามสายงานอื่น หรือตามสำนักงานเจ้านายต้องกลับมาปฏิบัติหน้าที่ตามเดิม ประโยชน์จะตกไปอยู่ที่ประชาชน สมดั่งเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์.
June 19, 2020 at 12:10AM
https://ift.tt/2N9c4OD
สั่ง'พงส.'กลับต้นสังกัดใน 7 วัน แก้ปัญหา'สอบสวน'ขาดแคลน - ไทยโพสต์
https://ift.tt/2Y7cf1E
Bagikan Berita Ini
0 Response to "สั่ง'พงส.'กลับต้นสังกัดใน 7 วัน แก้ปัญหา'สอบสวน'ขาดแคลน - ไทยโพสต์"
Post a Comment