Search

การแก้รัฐธรรมนูญ : ความต่างในการมองใจกลางของปัญหา - ผู้จัดการออนไลน์

https://ift.tt/2XZS4CW


"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"



ความเป็นไปได้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ มีมากขึ้นเมื่อกระแสการเรียกร้องจากสังคมโดยเฉพาะพลังจากเครือข่ายเยาวชนกดดันให้นายกรัฐมนตรีต้องออกมาแสดงจุดยืน อย่างไรก็ดี แม้ว่าการแสดงออกของนายกรัฐมนตรีมีทิศทางยินยอมให้มีการแก้ไข แต่ก็หาใช่ว่าปัญหาจะหมดไปเสียทีเดียว เพราะว่านายกรัฐมนตรียังขาดความชัดเจนเกี่ยวกับประเด็นหลักที่เป็นปมของความขัดแย้ง และยังมีท่วงทำนองที่พยายามยื้อยืดระยะเวลาในการแก้ไขอีกด้วย อีกทั้งยังตัวแสดงทางการเมืองทั้งจากฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และฝ่ายประชาสังคมอีกไม่น้อยที่มีมุมมองแตกต่างในประเด็นที่เป็นแก่นหลักของอำนาจและความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญอีกด้วย


กระแสการขับเคลื่อนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ แต่ต้องชะลอลงชั่วคราวเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด ๑๙ ซึ่งทำให้เกิดแรงเฉื่อยในการทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 จนกระทั่งเมื่อการเคลื่อนไหวของเครือข่ายเยาวชนเริ่มขึ้นใหม่อีกครั้งในกลางเดือนกรกฎาคม คณะกรรมาธิการฯจึงเกิดการขยับเขยื้อนและนำเสนอผลการศึกษาในปลายเดือนกรฏาคม ต่อมาเมื่อกระแสการเคลื่อนไหวของเครือข่ายเยาวชนและภาคประชาสังคมอื่น ๆ ขยายตัวและทวีความเข้มข้นมากขึ้น นายกรัฐมนตรีก็ไม่สามารถทำนิ่งเฉยได้อีกต่อไปจึงต้องเรียกพรรคร่วมรัฐบาลมาหารือและแสดงจุดยืนว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เริ่มจากวันที่ 31 ก.ค. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาฯ แถลงว่าคณะกรรมาธิการฯมีความเห็นร่วมกันว่า ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิและมีความเป็นเจ้าของมากขึ้น มีหลายเรื่องที่จะต้องแก้ไข รวมทั้งต้องแก้ไข มาตรา ๒๕๖ ก่อนเนื่องจากหลักเกณฑ์ในมาตรานี้ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญยากลำบากและหากเป็นไปได้ทางกรรมาธิการฯจะเพิ่มเติมหมวดการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเข้าไปอีกหนึ่งหมวด


สิ่งที่คณะกรรมาธิการฯ แถลงมี ๒ ประเด็นที่สำคัญในการแก้ไขครั้งนี้คือ ๑) การแก้มาตรา ๒๕๖ ซึ่งเดิม หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญมีเงื่อนไขมากมาย จนทำให้การแก้ไขทำได้ยากมาก คณะกรรมมาธิการฯ จึงคิดว่าจะแก้มาตรานี้เพื่อคลายปมที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนในการแก้ไข ให้กลายเป็นการใช้เสียงข้างมากแบบปกติในรัฐสภาแทน อย่างไรก็ตามการแก้มาตรานี้จะต้องมีการลงประชามติ ๒) การเพิ่มหมวดที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่เข้าไป เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญมากขึ้น โดยเสนอไว้ให้เลือกประชาชนมาเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 200 คน มาจากจังหวัดละ1 คนเป็นอย่างน้อย หากจังหวัดใหญ่ก็มีได้หลายคน

ต่อมาพลเอกประยุทธ์ จันท์โอชานายกรัฐมนตรีได้เชิญพรรคร่วมรัฐบาลมาหารือและกล่าวกับสื่อมวลชนว่าตนเองสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และได้กล่าวต่อสาธารณะอีกหลายประการ ซึ่งสามารถสรุปได้เป็น ๓ ประเด็นหลักคือ ๑) การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำในนามรัฐบาล ไม่ให้พรรคร่วมมีอิสระในการนำเสนอ ซึ่งข้อนี้เป็นเสมือนคำสั่งแก่พรรคร่วมรัฐบาลไม่ให้แตกแถวไปจากข้อเสนอของรัฐบาล และเสมือนเป็นการปรามพรรคประชาธิปัตย์ไม่ให้ไปร่วมสนับสนุนญัติติแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านไปในตัว

๒) หากฝ่ายค้านยื่นญัติติแก้รัฐธรรมนูญฯ ฝ่ายรัฐบาลจะยื่นญัติติประกบทันที ซึ่งหมายความว่าพลเอกประยุทธ์ไม่ได้มีเจตจำนงในการริเริ่มแก้ไขอย่างจริงจัง เพียงทำไปเพื่อแข่งขันฝ่ายค้านและไม่ให้รัฐบาลเสียหน้านั่นเอง

๓) หากฝ่ายค้านยังไม่ยื่นญัตติ รัฐบาลจะแก้ในสมัยหน้า โดยอ้างว่าวาระการเปิดสภาเหลืออยู่เพียงจำกัด ซึ่งสิ่งนี้เป็นเกมการเมืองเพื่อยืดเวลาออกไปเท่านั้นเอง ส่วนจะแก้เรื่องอะไรบ้าง พลเอกประยุทธ์กล่าวว่าต้องรอดูผลการศึกษาของ กมธ. ประกอบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพลเอกประยุทธ์เองก็ยังไม่ตกผลึกว่าตนเองต้องการแก้ไขในเรื่องอะไรบ้าง จึงไม่สามารถสื่อสารบอกสังคมได้ อันที่จริงแล้วก็มีความเป็นไปได้ว่าลึก ๆ พลเอกประยุทธ์อาจไม่อยากแก้อะไรเลยก็ได้ เพราะยังหลงคิดไปว่ารัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ คืออัญมณีอันมีค่าของตนเอง ต้องเก็บรักษาเอาไว้อย่างถึงที่สุด

สำหรับในส่วนของสมาชิกวุฒิสภา วันที่ ๔ สิงหาคม นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้แสดงจุดยืนออกมาอย่างชัดเจนว่า ส.ว.พร้อมให้ความร่วมมือในการแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นที่เห็นสมควรแก้ไข เช่น เรื่องบัตรเลือกตั้งใบเดียว แต่ไม่เห็นด้วยกับการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เป็นที่ชัดเจนว่าประเด็นการแก้ไขที่ ประธาน ส.ว. ไม่ขัดขวางคือ ประเด็นที่ไม่เกี่ยวกับสถานภาพและอำนาจของตนเอง ส่วนประเด็นที่อาจมีผลกระทบกับสถานภาพและอำนาจของตนเองอย่างเรื่องการตั้ง ส.ส.ร.เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่นั้น ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้ว่าจะมียกเลิก ส.ว. หรือ หากมี ก็มีในรูปแบบอื่นที่ต้องยึดโยงกับประชาชน ไม่ใช่ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. แบบนายพรเพชร อีกต่อไป

คาดว่า นายพรเพชร และ ส.ว.จำนวนไม่น้อยจะต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากการแก้ไขนั้นไปกระทบกับสถานภาพและอำนาจของพวกเขา จะมีก็แต่เพียง ส.ว.บางคนเท่านั้นที่เข้าใจสถานการณ์ความขัดแย้ง มีสำนึกและรับผิดชอบต่อบ้านเมืองโดยไม่ยึดติดกับอำนาจ ซึ่ง ส.ว.กลุ่มนี้อาจสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญแม้ว่าตนเองต้องสูญเสียสถานภาพและอำนาจไป

สำหรับฝ่ายค้านเมื่อวันที่ ๒๙ ก.ค. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและคณะแถลงข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ๕ มาตรา คือ มาตรา ๒๖๙, ๒๗๐, ๒๗๑, ๒๗๒ ที่เป็นบทเฉพาะกาลเกี่ยวข้องกับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และมาตรา ๒๗๙ ที่ให้การรับรองประกาศ คสช.ที่กระทำก่อนหน้านี้ ชอบด้วยกฎหมาย และเสนอให้เพิ่มหมวดที่ว่าด้วยการจัดตั้ง ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมา และมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ทันในสมัยประชุมสภานี้

ข้อเสนอของพรรคก้าวไกลกระทบกับสถานภาพและอำนาจของ ส.ว. อย่างรุนแรงซึ่งทำให้ ส.ว.ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีและร่วมพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศตั้งแต่เริ่มแรกร่วมกับ ส.ส. ได้อีกต่อไป และขัดแย้งกับจุดยืนของนายพรเพชร ในประเด็นการจัดตั้ง ส.ส.ร.  

ด้านพรรคเพื่อไทย นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม ระบุว่าพรรคเพื่อไทยจะยื่นญัติติการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อประธานสภาฯภายในต้นเดือนสิงหาคม โดยเสนอแก้ไขมาตรา ๒๕๖ เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง และอาจจะมีการเสนอญัติติร่างแก้ไขของพรรคร่วมฝ่ายค้านอีกฉบับด้วย ข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยสอดคล้องกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการฯ และสอดคล้องกับพรรคก้าวไกลในประเด็นการจัดตั้ง ส.ส.ร. แต่ยังไม่ชัดเจนในเรื่องสถานภาพและอำนาจของ ส.ว.

จากข้อมูลข่าวสารข้างต้น ภาพรวมของการเสนอแก้ไขรัฐธรรมของฝ่ายการเมืองมี ๒ แนวทางหลักคือ

๑) ฝ่ายค้านจะยื่นญัติติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ๒ ฉบับ ฉบับแรกเป็นของพรรคเพื่อไทยที่มุ่งเน้นไปที่มาตรา ๒๕๖ เพื่อให้มีการจัดตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมา และฉบับที่สองเป็นของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งคาดว่ามีประเด็นหลัก ๒ ประเด็นคือ การแก้ไขเกี่ยวกับสถานภาพและอำนาจของ ส.ว. กับ การจัดตั้ง ส.ส.ร.

๒) ฝ่ายรัฐบาลจะไม่ยื่นแก้ไขก่อน แต่จะยื่นประกบญัติติของฝ่ายค้าน ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะเสนอแก้ไขในประเด็นใดบ้าง หากยึดเอาสิ่งที่นายกฯพูดว่าจะพิจารณาจากร่างกรรมาธิการ ก็อาจอนุมานได้ว่า รัฐบาลอาจเสนอให้มีการจัดตั้ง ส.ส.ร. เหมือนฝ่ายค้าน แต่เมื่อพิจารณาจุดยืนของนายพรเพชร เราก็ยังไม่อาจสรุปได้แน่ชัดเสียทีเดียวนัก ส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานภาพและอำนาจของ ส.ว. ผมประเมินว่ารัฐบาลจะไม่แก้ เพราะสิ่งนี้คือ “แก่นอำนาจ” ของรัฐบาล ประเด็นที่รัฐบาลอาจจะเสนอแก้อาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง เพราะนอกจากไม่กระทบกับแก่นอำนาจของตนเองแล้วก็ยังอาจเอื้อประโยชน์แก่พรรคแกนนำรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งต่อไปอีกด้วย


สำหรับภาคประชาสังคมที่อยู่นอกระบบรัฐสภา โดยเฉพาะเครือข่ายเยาวชนที่ชุมนุมประท้วงรัฐบาลในขณะนี้ คาดว่าพวกเขามีความประสงค์ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยการจัดตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมา และ แก้ไขเกี่ยวกับสถานภาพและอำนาจของ ส.ว.
แม้ว่าทุกฝ่ายจะมีความเห็นร่วมกันแล้วว่ามีความจำเป็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เส้นทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญหาได้ราบรื่นแต่อย่างใด เพราะว่ายังมีความเห็นที่แตกต่างอย่างลึกซึ้งในประเด็นหลัก ๒ ประเด็นที่เป็นหัวใจของอำนาจและความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญทั้งในเรื่องสถานภาพและอำนาจของ ส.ว. และ การจัดตั้ง ส.ส.ร. และหากยังไม่เห็นพ้องกันในประเด็นหลักทั้งสองเปลวไฟของความขัดแย้งก็ยังคงยากที่จะมอดดับลงไปได้

Let's block ads! (Why?)




August 07, 2020 at 05:06PM
https://ift.tt/33ChQkY

การแก้รัฐธรรมนูญ : ความต่างในการมองใจกลางของปัญหา - ผู้จัดการออนไลน์

https://ift.tt/2Y7cf1E


Bagikan Berita Ini

0 Response to "การแก้รัฐธรรมนูญ : ความต่างในการมองใจกลางของปัญหา - ผู้จัดการออนไลน์"

Post a Comment

Powered by Blogger.