เป็นกระแสที่ต้องจับตามองกับการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่ขยายจากนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ลงไปถึงนักเรียนชั้นมัธยม ซึ่งแม้ใจความหลักจะอยู่ที่เรื่องการเมืองจากข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อ “หยุดคุกคามผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล-ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย-ยุบสภา” รวมถึงบางกลุ่มที่เสนอไปไกลกว่านั้น แต่อีกด้านก็มีการสะท้อนมุมมองเรื่อง “การศึกษา” ที่เป็นประเด็นใกล้ตัว
สัปดาห์นี้ “ที่นี่แนวหน้า” ขอนำบางส่วนจากงานเสวนา “เข้าใจคนรุ่นใหม่ท่ามกลางโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง” ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งก่อนจะถึงช่วงเวทีเสวนาโดยนักวิชาการทางผู้จัดงานได้เชิญตัวแทนคนรุ่นใหม่ทั้งในกรุงเทพฯ และอีกหลายจังหวัด มาบอกเล่าเรื่องราวของการตั้งคำถามถึงปัญหาและข้อเรียกร้องทางการเมือง แต่ก็มีหลายคนที่ได้บอกเล่าสิ่งที่เคยพบเจอในระบบการศึกษาไว้ด้วยอย่างน่าสนใจ
ธนายุทธ ณ อยุธยา หรือที่รู้จักกันในวงการเพลงแร็พ (Rap) ในชื่อ “Eleven Fingers” ผู้ใช้ดนตรีบอกเล่าเรื่องราวบ้านเกิดอย่าง “ชุมชนคลองเตย”พื้นที่ที่ถูกเรียกว่า “สลัม” และถูกมองว่าเป็น “แดนอันตราย”ที่หลายคนไม่กล้าเฉียดกรายไปใกล้ “ทำไมคนข้างนอกถึงมองว่าคลองเตยเป็นสถานที่ที่มีแต่ยาเสพติด? ทำไมถึงมองว่าเป็นสถานที่ที่มีแต่อาชญากรรม?” จากคำถามนี้จึงกลายมาเป็นเพลง “KLONGTOEY my City” พยายามสื่อให้เห็นว่า คลองเตยไม่ได้มีแต่มุมลบๆ ด้านเดียว “ทุกที่มีทั้งคนดีและไม่ดี” และไม่ว่าจะอยู่ที่ใดความเป็นคนย่อมเท่าเทียมกัน
แร็พเปอร์หนุ่มวัยรุ่นรายนี้ เล่าว่า ในช่วงมัธยมต้นเป็นคนหนึ่งที่มีผลการเรียนดี แต่ก็เป็นเพียงการทำตามที่ครูและพ่อแม่แนะนำหรือตีกรอบไว้เท่านั้น “ถ้าเรียนดีโตไปจะมีอนาคตที่ดี” เพราะขณะนั้นยังไม่รู้ว่าชอบอะไรกระทั่งเมื่อถึงชั้นมัธยมปลาย ได้รู้จักกับเพลงแร็พและรู้สึกว่า “แร็พคือทางของเรา” แน่นอนเป็นธรรมดาเมื่อใครคนหนึ่งพบทางที่ใช่แล้วจะเอาจริงเอาจังกับสิ่งนั้น แต่อีกด้านมันก็ทำให้คนรอบข้างไม่สบายใจจากผลการเรียนที่ตกลง
“ที่บ้านเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าเราเหลวไหลหรือเปล่า โรงเรียนก็เริ่มตั้งข้อสงสัยว่าเราเหลวไหลหรือเปล่า เราเริ่มเกโรงเรียนแล้ว เราเริ่มที่จะไม่อยากเรียนแล้ว แต่เขาไม่ฟังเหตุผลเลยว่าผมมีความฝันนะที่ผมอยากทำสิ่งนี้ เขาแคร์แค่ว่าผมจะเรียนดีแค่ไหนมากกว่า ซึ่งผมอยากอธิบายกับพวกเขาว่าในโรงเรียนมันมีทั้งเด็กกิจกรรม เด็กการเรียน แต่ทุกคนมีความสามารถที่ต่างกัน เราไม่จำเป็นต้องแบ่งแยกกัน เราควรจะมาตั้งคำถามและมาแก้ไขตรงนี้ดีกว่า ว่าเราจะทำอย่างไรให้ 2 อย่างนี้มันมาผสานกันได้แล้วเขาไปด้วยกันได้ ให้เขาอยากมาโรงเรียนทุกวัน” ธนายุทธ กล่าว
ประเด็นต่อมา ธนายุทธชวนคิดต่อไปว่า “ทำไมต้องตัดคะแนนคนมาสาย?” ซึ่งเรื่องนี้ตนเองก็เคยเห็นด้วยกับการที่โรงเรียนตัดคะแนนนักเรียนที่มาโรงเรียนสายและเคยมีเพื่อนเรียนห้องเดียวกันมาสาย โดยช่วงแรกๆก็มีคำถามว่าทำไมแค่ตื่นเช้ามาโรงเรียนถึงทำไม่ได้ กระทั่งเมื่อได้รับรู้ความจริงว่าเพื่อนคนนี้มียายแก่ๆ ต้องดูแล กลางวันก็ต้องเรียนหนังสือ เย็นกลับบ้านก็ต้องช่วยทำงานจนถึงค่ำมืดดึกดื่น ก็ทำให้มุมมองเปลี่ยนไป
“ผมเข้าใจว่าคนเรามันเลือกไม่ได้ ถึงแม้ใครจะบอกว่าคนเรามีสิทธิที่จะสามารถเลือกอนาคตของตัวเองได้แต่สำหรับบางคนมันก็เลือกไม่ได้ขนาดนั้น ผมถึงเข้าใจว่าทำไมระบบการศึกษาถึงได้เจาะลึกไม่ถึงนักเรียน แล้วก็มองนักศึกษาเหล่านี้ว่าเขามีชีวิตมีรากฐานเป็นอย่างไรบ้าง ทำไมถึงมองตื้นๆ ว่าเขามาสายเป็นเพราะเขาไม่อยากมาเรียน เป็นเพราะเขาไม่มีความรับผิดชอบ แต่ไม่มองว่าชีวิตประจำวันของเขาต้องพบเจอกับอะไรบ้าง เราควรจะเข้าใจเด็กมากขึ้น ควรจะเปิดใจรับฟังเด็กมากขึ้น” ธนายุทธระบุ
ธนายุทธยังเสนอแนะด้วยว่า “เป็นไปได้หรือไม่หากจะนำวิชาการในห้องเรียนมาผสานกับสิ่งที่พบเจอในชีวิตประจำวัน” เช่น เด็กที่ชอบกีฬาฟุตบอล อาจประยุกต์วิชาคณิตศาสตร์เข้าไปโดยชวนให้คิดว่าการเตะลูกฟุตบอลให้เข้าประตูจากจุดนี้ต้องทำมุมกี่องศา เป็นต้น ดีกว่าการให้ท่องจำแต่สูตรเปล่าๆ ที่ผู้เรียนไม่ได้รับรู้เลยว่าสูตรที่เรียนที่ท่องกันสามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง
จากกรุงเทพฯ ลงไปที่ภาคใต้ นัญวา สันม่าหมูดเยาวชนหญิงจาก จ.ตรัง สะท้อนปัญหา “หลายคนไม่รู้ว่าชอบอะไร กระทั่งเรียนจบไปทำงานแล้วก็ยังไม่รู้” ซึ่งเรื่องนี้ไม่เพียงเป็นปัญหาเฉพาะตัวบุคคล แต่ยังมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศชาติด้วย “สินค้าที่ผลิตจากประเทศที่คนไม่ได้ทำงานตามความชอบ (Passion) คุณภาพย่อมเทียบไม่ได้กับสินค้าที่ผลิตจากประเทศที่คนได้ทำงานตามความชอบ” เพราะเมื่อแต่ละคนชอบงานที่ตนเองทำก็จะใส่ใจกับงานนั้นอย่างเต็มร้อย ผลผลิตที่ออกมาจึงมีคุณภาพสูง ราคาผลงานก็ย่อมสูงไปด้วย
นอกจากนี้ “ทำไมเด็กทุกคนต้องเหมือนกัน?” เช่น ตนเองอยากเรียนด้านสถาปัตย์ แต่ไม่ถนัดวิชาเคมีกับชีววิทยา ส่วนเพื่อนอีกคนอยากเรียนแพทย์ แน่นอนว่าต้องเก่งทุกวิชาแต่ก็ไม่รู้ว่าการเรียนแพทย์อะไรจำเป็นบ้าง ขณะที่เพื่อนอีกคนผลการเรียนกลางๆ แต่เป็นคนร้องเพลงเพราะและเต้นเก่งมาก “ทำไมครูถึงเอาแต่มองว่าเด็กที่มีผลการเรียนไม่สูงเป็นเด็กไม่ฉลาดและต้องกวดขันให้ปรับปรุง” ทั้งที่เด็กคนนั้นก็มีความสามารถในด้านอื่น
ยังอยู่ที่ตัวแทนภาคใต้ นัฐพงษ์ ตาแก้ว วัยรุ่นหนุ่มชาวพัทลุง เป็นอีกรายที่สะท้อนปัญหาการแบ่งนักเรียนตามผลการเรียนเพียงด้านเดียว “จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องไปเรียนวันละ 7-8 ชั่วโมง และทำการบ้านวันละ 40-50 หน้า” ขณะเดียวกันยังตั้งคำถามว่า “บางวิชามีประโยชน์อะไรแถมยังสอนวนไปเวียนมาหลายระดับชั้นอีกต่างหาก” เช่น ภาษาไทย ที่นำวรรณกรรมเรื่องพระอภัยมณีมาสอนตั้งแต่ประถมปลายและยาวไปอีกหลายชั้น ควรจะสอนให้จบทีเดียวเพื่อจะได้ไปเรียนอย่างอื่นในชั้นต่อๆ ไปจะดีกว่าหรือไม่
นี่คือเสียงสะท้อนจากเยาวชนถึงผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่ออกแบบระบบการศึกษา ก็ต้องฝากไปถึงท่านเจ้ากระทรวงศึกษาธิการ “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” ที่กำลังเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นคนรุ่นใหม่ผ่านกลไกสภานักเรียน รวมถึงออกไปต้อนรับและนั่งจับเข่าคุยกับม็อบนักเรียนที่หน้ากระทรวงด้วยตนเอง ช่วยนำไปพิจารณาด้วย!!!
August 29, 2020 at 02:00AM
https://ift.tt/31AFMDW
คอลัมน์การเมือง - ฟังเสียงคนรุ่นใหม่ เล่าปัญหาการศึกษาไทย - หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://ift.tt/2Y7cf1E
Bagikan Berita Ini
0 Response to "คอลัมน์การเมือง - ฟังเสียงคนรุ่นใหม่ เล่าปัญหาการศึกษาไทย - หนังสือพิมพ์แนวหน้า"
Post a Comment