เวลานี้ต้องแก้ปัญหาหนี้สิน อย่ารอจนถึงเวลาที่ต้องแก้หนี้เสีย
วันที่ 06 ก.ค. 2563 เวลา 07:44 น.
คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) ตอนที่ 27/2563 โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่เครดิตบูโร
บทความวันนี้ของผู้เขียน เกิดจากการได้อ่านข้อความที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ ที่มีการรวมตัวกันหารือในกลุ่มต่างๆ มากบ้างน้อยบ้าง แต่แทบทุกคนล้วนอยู่ในอาการเดียวกัน คือ
1. อยากเห็นมาตรการที่ส่งลงไปผ่านการปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริง ย้ำว่าต้องเกิดขึ้นจริงเช่น เงินให้กู้ดอกเบี้ยต่ำต้องไปถึงมือคนที่เป็นลูกหนี้ ไม่ใช่บอกว่ามีมาตรการเท่านั้นเท่านี้แต่มันมีแต่ตัวเลขสูงๆ ที่ไม่เกิดขึ้นจริง เหมือนกับการตั้งเป้าหมายของ CEO สถาบันการเงิน ไม่มีใครสนใจวงเงินสินเชื่อที่อนุมัติได้ ทุกคนล้วนสนใจยอดเงินกู้ที่ลูกค้าเบิกใช้ เพราะรายได้ดอกเบี้ยรับมันจะเกิดในงบกำไรขาดทุนได้ก็ต่อเมื่อเงินกู้ถูกเบิกถอนเอาไปใช้ นโยบายถูก ปฏิบัติได้ เกิดผลจริง กลุ่มเป้าหมายใช้ประโยชน์ ผลสุดท้ายก็มาประเมินกันว่าได้ผลตามเป้าหมายหรือไม่
2. นักวิชาการ ผู้ที่มีความคิดที่ดีต่อบ้านเมือง ต่อระบบเศรษฐกิจต่างมีความ"รู้สึก เป็นห่วง" ลูกหนี้ว่า ในภาวะการเช่นนี้จะหมดสายป่านกันหรือยัง ถ้าใกล้หมดแล้วจะทำอย่างไรต่อ ส่วนคนที่ต้องเปิดกิจการอีก ครั้งต้องการเงินทุนไปจุดปะทุเครื่อง (Jumpstart) ให้เดินได้อีกครั้งจะทำได้ขนาดไหน "มีความรู้สึกกังวล" ต่อเจ้าหนี้สถาบันการเงินว่าจะมีความแข็งแรง มีพละกำลังแบกรับเอาความเสี่ยงเข้าไปได้อีกเท่าไหร่ โดยเฉพาะเมื่อวิกฤติสาธารณสุข มันลามไปวิกฤติทางธุรกิจและเศรษฐกิจมันเกิดขึ้น ต่อท่อความเสี่ยงส่งไปยังเหล่าสถาบันการเงินในเวลานี้ ข้อความที่น่าสนใจจากการสนทนาในวงกว้าง ตัวอย่างเช่น
... COVID 19 ต้องลุ้นว่ามีการระบาดรอบที่ 2 หรือไม่ แต่ผมว่าที่แน่ๆ เศรษฐกิจไทยโดนสึนามิแน่ครับ..
... มีคำถามว่าวิกฤติครั้งนี้เกิดจากฝั่ง Demand หรือ Supply ผมคิดอย่างนี้ว่ามันเริ่มจากด้าน Supply เพราะเราจำเป็นต้องออกยาแรงไป force ให้กิจกรรมหยุด และเมื่อไหร่ลามไป Unemployment นั่นแหละจึงเป็น Demand problem..
... เหตุผลหลักที่ปรับลดประมาณการทางเศรษฐกิจก็คือมองในเวลานี้และมองไปข้างหน้าแล้ว Economic policy is too slow and too small เมื่อเทียบกับมหาวิกฤติเศรษฐกิจที่ใหญ่และลึกกว่าครั้งไหนๆ
.... มีคนกล่าวว่าวิกฤติปี 2540 มันเหมือนถูกมีดปังตอฟันข้างหลัง แผลฉกรรจ์ เลือดเยอะ แผลน่ากลัว แต่มันหนักเฉพาะจุด กล้ามเนื้อและอวัยวะส่วนอื่น เส้นเลือดฝอยไม่เสียหาย ผ่าตัดใหญ่ก็พอจะรอด แต่ครั้งนี้เหมือนโดนมีดคัตเตอร์แทงเข้าไปหลายจุด แผลลึก บางแผลโดนอวัยวะภายใน ที่สำคัญเลือดตกข้างใน เลือดไม่พุ่งออกมา แต่การอักเสบเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ติดเชื้อง่ายมาก อาการจึงเป็นแบบ เจ็บลึก ซึมนาน ฟื้นช้า แถมได้ยาแก้ปวดแก้แพ้ ถามว่าทำไมไม่รีบส่งเข้าห้องผ่าตัดทำแผล ปรากฏว่าประตูห้องทำแผลผ่าตัดเสีย แบบที่นุมัติให้ซ่อมประตูห้องผ่าตัดผ่านแล้วดันลืมใส่ลูกบิดให้เปิดด้วยมือ เพราะคนออกแบบไปเข้าใจว่าจะออกแบบบ้านนายธนาคารเลยออกแบบให้เปิดด้วยการสแกนใบหน้าเพื่อความมั่นคงปลอดภัย
3. บทบาทของเจ้าหนี้ คือใครก็ตามที่มาเป็นเจ้าหนี้ จะมีความสำคัญสูงมาก ถึงมากที่สุด ข้อเขียนของบุคลากรในธนาคารกลาง ของสายงานที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือบวกให้ความคุ้มครองลูกหนี้ เขียนไว้ในบทความของท่านดีมากความตอนหนึ่งว่า
... เจ้าหนี้มืออาชีพย่อมเข้าใจสถานการณ์ และอาการบาดเจ็บของลูกหนี้ในครั้งนี้ เป็นอย่างดี จึงควรเตรียมการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ที่ ลดลง เปรียบเสมือนการทำทางสายใหม่ (new road) ที่ไม่เปล่าเปลี่ยว เพื่อช่วยให้ ลูกหนี้ได้เดินต่อไปจนกระทั่งถึงวันที่ลูก หนี้พร้อมวิ่งได้...
คนที่ทำงานกับลูกหนี้ เห็นความทุกข์เข็ญของลูกหนี้ ได้รับรู้รับฟังเรื่องแทบทุกเช้าทุกสัปดาห์ผ่านเรื่องจริงจากลูกหนี้ เมื่อตัดเอาส่วนของดราม่า อารมณ์ออกไป ก็จะพบว่า สมการที่จะแก้ไขในวันนี้ต้องมีความต้องการ และความสามารถของลูกหนี้มาร่วมด้วย มันไม่ได้คิดแบบ Lab แห้ง (ใช้ความคิดปกติแบบเดิมมาออกแบบแก้ปัญหาที่ไม่ปกติบวกการฟังแต่ไม่ยอมได้ยิน) ผลัดกันเขียน เวียนกันอ่าน ผ่านกันชมระหว่างคนไม่เคยกู้กับคนให้กู้ (ไม่มีคนกู้ตัวจริง) หลายท่านจะเถียงว่าแม้ว่าไม่เคยกู้จากสถาบันการเงินแต่ก็กู้จากสหกรณ์ออมทรัพย์ในหน่วยงานนะ
ผู้เขียนขอเรียนว่า ลูกหนี้เงินกู้สวัสดิการกับลูกหนี้เงินกู้เพื่อธุรกิจ เงินกู้เพื่อการบริโภค โดยเงินที่เอามาใช้หนี้มาจากหาหารายได้ จากการทำธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ มันต่างจากเงินเดือนขององค์กรที่อิสระ มีงบของตนเอง และยากที่ใครจะไปแตะให้เปลี่ยนแปลงได้ ที่สำคัญคือมันไม่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสนี้ ผู้เขียนจึงขอชื่นชมท่านที่เขียนบทความนี้ เพราะการเป็นนายธนาคาร"กลางใจลูกหนี้" ที่กำลังลำบากสุดๆนั้น ต้องเข้าใจเขา ต้องเข้าถึงปัญหา จึงจะเกิดปัญญาในการพัฒนาทางเลือกเพื่อความอยู่รอดอย่างเป็นจริง และต้องยอมรับความเสี่ยงให้ได้ว่า ที่คิดมาทั้งหมดหากถูกส่งออกไปในทางปฏิบัติแล้วอาจสัมฤทธิ์ผลน้อยมากก็ได้
วันที่เขียนบทความนี้เป็นช่วงเวลาของวันพระใหญ่ ขอเชิญชวนท่านผู้อ่านร่วมลงแรง ลงมือทำ ละเว้นการเปล่งวาจาว่าจะทำ หรืองดเว้นการสัญญาว่าจะทำ เพื่อให้ทุกสิ่งอย่างที่ลงมือทำได้ส่งถึงผู้ที่กำลังเดือดร้อน อย่าให้เขาเหล่านั้นหมดแรงในเมตรสุดท้าย วาระสุดท้าย คืนสุดท้ายของความช่วยเหลือครับ สาธุ...
July 06, 2020 at 07:48AM
https://ift.tt/31NUat2
เวลานี้ต้องแก้ปัญหาหนี้สิน อย่ารอจนถึงเวลาที่ต้องแก้หนี้เสีย - โพสต์ทูเดย์
https://ift.tt/2Y7cf1E
Bagikan Berita Ini
0 Response to "เวลานี้ต้องแก้ปัญหาหนี้สิน อย่ารอจนถึงเวลาที่ต้องแก้หนี้เสีย - โพสต์ทูเดย์"
Post a Comment