Search

คอลัมน์การเมือง - 'เหยียด-ตีตรา-ล่าแม่มด' ปัญหาสังคมกับโรคระบาด - หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://ift.tt/2XZS4CW

สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่เพียงแต่สร้างผลกระทบด้านสาธารณสุขอันหมายถึงผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต หรือด้านเศรษฐกิจอันหมายถึงมาตรการล็อกดาวน์ที่รัฐใช้เพื่อสกัดการระบาดส่งผลให้ธุรกิจต้องหยุดกิจการและคนจำนวนมากต้องตกงานจนมีบางส่วนรับไม่ไหวตัดสินใจฆ่าตัวตายเท่านั้น ยังมีผลกระทบทางสังคมจากกระแส “เหยียด-ตีตรา-ล่าแม่มด” บุคคลหลากหลายประเภทด้วย

สัปดาห์นี้ “ที่นี่แนวหน้า” ขอนำบางส่วนจากการเสวนาออนไลน์ “บทบาทของสื่อในการลดการตีตราและอคติในการรายงานข่าวการระบาดของไวรัสโควิด-19”จัดโดย Internews เมื่อเร็วๆ นี้ มานำเสนอกับท่านผู้อ่านซึ่งหนึ่งในผู้ร่วมเสวนา พิณผกา งามสม บรรณาธิการบริหาร สถานีโทรทัศน์ Voice TV ได้ยกตัวอย่างการตีตราบุคคลนับตั้งแต่เริ่มมีสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาดเข้ามายังสังคมไทย อาทิ


1.ผีน้อย หรือคนไทยที่ไปทำงานอย่างผิดกฎหมายในประเทศเกาหลีใต้ ย้อนไปช่วงปลายเดือนก.พ. 2563 ประเทศไทยยังไม่มีนโยบายปิดกั้นกิจกรรมใดๆ รวมถึงการเดินทางข้ามประเทศ เมื่อคนไทยกลุ่มนี้เดินทางกลับประเทศประกอบกับยังไม่มีมาตรการบังคับกักตัว สังคมไทยก็มีปฏิกิริยาหวาดกลัวคนกลุ่มนี้ เกิดการไล่ล่า
ติดตามว่าบรรดาผีน้อยไปทำอะไรที่ไหนบ้าง

“ก็มีคนตั้งคำถามเหมือนกันว่าตกลงระลอกแรกที่เราไล่ล่าผีน้อยกัน คอยดูว่าพวกเขาไปกินหมูกระทะ ไปทำอะไร สุดท้ายแล้วคนกลุ่มนี้ทำให้เกิดการระบาดเท่าไร มีไหม มีหรือไม่ เพราะว่าตัวเลขที่มันเกิดขึ้นจริงๆ มันเกิดขึ้นที่ระลอก 2 ระลอกสนามมวยมากกว่า อันนี้ก็ยังไม่มีคำตอบอะไร เรายังไม่ถอดบทเรียนเรื่องนี้
แล้วก็ในแง่ของสื่อ พูดตรงๆ เราไม่ได้เข้าไปถึงตัวผีน้อยหรือใครที่เป็นกลุ่มระลอกแรกที่โดนล่าก่อน” พิณผกา กล่าว

กลุ่มต่อมา 2.คนกลับบ้าน ช่วงปลายเดือนมี.ค.2563 กรุงเทพมหานคร (กทม.) เริ่มใช้มาตรการล็อกดาวน์ (Lockdown) ปิดกิจการต่างๆ ให้เหลือเท่าที่จำเป็น ส่งผลให้คนจากทั่วประเทศที่มาทำงานในกรุงเทพฯ แห่เดินทางกลับภูมิลำเนา ซึ่งแม้ว่าสังคมต่างจังหวัดของไทยจะมีจุดเด่นที่ชุมชนเข้มแข็ง แต่อีกด้านก็นำไปสู่การปฏิบัติอย่างเกินกว่าเหตุ เช่น มีการสอดส่องว่าสมาชิกชุมชนคนใดกลับมาจากต่างถิ่น นำไปสู่การไม่เข้าใกล้-ไม่พูดคุยด้วย โดยในเวลานั้นความรู้เรื่องการป้องกันตนเอง อาทิ การสวมหน้ากากปิดปาก-จมูก ยังไม่แพร่หลายมากนัก

3.คนจน ตั้งแต่ช่วงเริ่มมาตรการล็อกดาวน์โดย กทม. ก่อนขยายไปทั่วประเทศเมื่อมีการใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ช่วงปลายเดือน มี.ค. 2563 ก่อนเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. 2563 เป็นต้นมา มีการกล่าวถึงเงินเยียวยา 5,000 บาท จากมาตรการเราไม่ทิ้งกันของภาครัฐที่แจกจ่ายให้ผู้ได้รับผลกระทบ เช่น ตกงานหรือสถานที่ค้าขายถูกปิดในช่วงวิกฤติไวรัสโควิด-19 ก็มีคำพูดเสียดสีประมาณว่าได้เงินแล้วจะเอาไปทำอะไร ทำไมคนจนไม่เก็บเงิน เป็นต้น

4.คนกินเหล้า ในช่วงที่รัฐบาลเริ่มผ่อนคลายล็อกดาวน์ โดยในวันที่ 3 พ.ค. 2563 อันเป็นวันแรกที่มีการคลายล็อกระยะที่ 1 ให้กิจการบางประเภททยอยกลับมาเปิดได้ รวมถึงการอนุญาตให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลับมาจำหน่ายได้ในลักษณะซื้อไปดื่มที่บ้าน หลังจากที่ห้ามขายทั่วประเทศมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเม.ย. 2563ภาพที่ปรากฏในวันดังกล่าวคือผู้คนจำนวนมากแห่ไปซื้อเหล้า-เบียร์จนแน่นห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อต่างๆ จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบต่างๆ นานา

“คนรุ่นเด็กอาจจะไม่ทันกระแสที่บอกว่าเอดส์เป็นโรคที่อันตรายมาก ร้ายแรงมาก แล้วเอดส์มันเป็นโรคที่เกิดมาจากพฤติกรรมที่ไม่ดี จำได้ว่าช่วงนั้นอยู่ประมาณมัธยม มีแคมเปญ (Campaign-หัวข้อรณรงค์) ไปในทิศทางนั้นเป็นระยะเวลาหนึ่งเลย แล้วสังคมเราต้องใช้เวลาเป็นสิบปีหลังจากนั้นในการที่จะสู้กับอคติอันนี้ บางทีมันไม่ใช่เรื่องคนดี-คนไม่ดี มันเป็นเรื่องของโรคติดต่อ มันเป็นเรื่องวิถีชีวิตการปรับตัว ต้องมีเครื่องมืออย่างไร หรืออาจต้องรอการพัฒนาการแพทย์อย่างไรที่ทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัย” บก.บห. Voice TV เล่าถึงบทเรียนในอดีต

ผู้ร่วมเสวนาอีกราย นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์ ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวประชาไท ยกตัวอย่างเพิ่มเติม 5. คนฆ่าตัวตายเพราะวิกฤติเศรษฐกิจจากโควิด-19 สืบเนื่องจากมีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งตัดเก็บข่าวการฆ่าตัวตายจากสื่อต่างๆ ที่เนื้อหาข่าวระบุแรงจูงใจในการฆ่าตัวตายว่ามาจากผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล เช่น สถานที่ค้าขายถูกปิดหรือตกงานแล้วไม่มีรายได้ แต่ผู้เสียชีวิตกลุ่มนี้กลับโดนสังคมตำหนิว่าอ่อนแอบ้าง ไม่ยอมสู้บ้าง เป็นต้น

ขวัญชาย ดำรงขวัญ แอดมินเฟซบุ๊คแฟนเพจ“มนุษย์กรุงเทพฯ” ซึ่งเป็นเพจที่บันทึกเรื่องเล่าชีวิตของบุคคลทั่วไป ให้ข้อคิดถึงการนำเสนอข่าว 1.ศึกษาเรื่องราวก่อนจะคิดเรื่องบทสัมภาษณ์ เพื่อให้เข้าใจปัญหา ข้อขัดแย้งรวมถึงอะไรที่ผู้รับสารจะได้รับจากการสัมภาษณ์คนคนนั้น 2.นึกถึงใจเขาใจเรา ในการสัมภาษณ์บนสถานการณ์ที่ละเอียดอ่อน ขอให้ลองคิดก่อนว่าหากตนเองหรือคนในครอบครัวอยู่ในสถานการณ์นั้นบ้างจะเป็นอย่างไร อนึ่ง บางคำถามอาจถามได้แต่ต้องรอให้เวลาผ่านไปสักระยะหนึ่งก่อน เช่น ความรู้สึกของการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก

ปิดท้ายด้วยนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โรคระบาด นอกจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวสารที่ได้รับแล้ว “ข้อมูลส่วนบุคคล” ก็เป็นเรื่องสำคัญ เช่น กรณีผู้เดินทางกลับมาประเทศไทยแล้วเกิดเหตุชุลมุนที่สนามบินสุวรรณภูมิ “มีผู้นำข้อมูลผู้เดินทางไปเผยแพร่บนโลกออนไลน์” นำไปสู่การคุกคาม เช่น มีบางรายถูกโทรศัพท์ไปด่าทอซ้ำๆ หลายครั้ง และการนำเสนอแบบตีตรา ยังเพิ่มความลำบากในการควบคุมโรคด้วย

“ภาษาที่เราใช้ไม่ได้ส่งผลเฉพาะการตีตราเฉพาะชั่วครั้งชั่วคราว แต่มันส่งผลกับทางสาธารณสุข (PublicHealth) จริงๆ ในการควบคุมการระบาดของโรค พอคนรู้สึกถูกตีตราคนก็รู้สึกว่าไม่อยากแสดงตัว ไม่อยากจะมาตรวจ (Test) คนจำนวนมากจะมีลักษณะไม่แสดงอาการ แต่อาจจะรู้ว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เป็นกลุ่มใกล้ชิด แล้วอาจจะมีอาการสักเล็กน้อย มีอะไรก็ตามแต่เขาจะไม่แสดงตัว แล้วก็ยิ่งทำให้การระบาดของโรคกว้างขึ้น” อาจารย์พิรงรอง ฝากข้อคิด

Let's block ads! (Why?)




June 13, 2020 at 02:00AM
https://ift.tt/2B754iw

คอลัมน์การเมือง - 'เหยียด-ตีตรา-ล่าแม่มด' ปัญหาสังคมกับโรคระบาด - หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://ift.tt/2Y7cf1E


Bagikan Berita Ini

0 Response to "คอลัมน์การเมือง - 'เหยียด-ตีตรา-ล่าแม่มด' ปัญหาสังคมกับโรคระบาด - หนังสือพิมพ์แนวหน้า"

Post a Comment

Powered by Blogger.