Search

ความเหลื่อมล้ำแห่งชีวิต สำรวจปัญหา “รวยยกระดับ-จนซ้ำซาก” ในสังคมไทย - ไทยรัฐ

https://ift.tt/2XZS4CW

“โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อแต่ละคนไม่เท่ากัน เพราะวิถีชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่างการให้ทำงานที่บ้าน หรือ work from home นี่เป็นเรื่องของ white collar (แรงงานที่ทำงานออฟฟิศ) ถ้าคุณเป็น blue collar (แรงงานที่ต้องไปโรงงาน) จะทำงานที่บ้านยังไง งานที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตก็หายไปเลย”

อิสร์กุลชี้ว่า ความเหลื่อมล้ำด้านต่างๆ ส่งผลต่อกันหมด ซึ่งถึงที่สุดแล้ว มันคือ “ความเหลื่อมล้ำทางด้านชีวิต” คนที่รวยจนอยู่ขอบบนที่ 1% กับคนที่จนติดขอบล่าง 10% มีวิถีชีวิตที่ไม่เหมือนกัน และความไม่เข้าใจปัญหาความเหลื่อมล้ำ อาจเพราะมองไม่เห็นว่า คนที่ต่างจากตัวเองใช้ชีวิตอย่างไร

“เวลาพูดถึงความเหลื่อมล้ำคนจะไม่ค่อยรู้สึก เพราะมองว่าไม่เกี่ยวอะไรกับชีวิตตัวเอง จะสนใจทำไมว่าคนอื่นต้องไปต่อคิวที่โรงพยาบาลในเมื่อมีเงินไปโรงพยาบาลเอกชน จะสนใจทำไมเรื่องยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ในเมื่อมีเงินพาลูกเข้าโรงเรียนดีๆ จะสนใจทำไมว่ารถเมล์มันร้อน ก็ซื้อรถขับสิ มันไม่เกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตของคนที่มีปากมีเสียงพอที่จะแก้ไขอะไรบางอย่าง วิธีการแก้ไขปัญหาของแต่ละคนคือต้องเอาตัวรอด เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะตน แก้ไขปัญหาแบบที่ไลฟ์โค้ชบอก 'มึงก็ต้องขยันไง' ซึ่งไม่ได้แก้ไขปัญหาของสังคม"

Photo by Kin Li https://unsplash.com/photos/vWqpKioWYmk
Photo by Kin Li https://ift.tt/3hJTkTu

จากยุคผู้ใหญ่ลีตีกลองถึงปัจจุบัน กับโครงสร้างเศรษฐกิจที่อาจสายเกินแก้

ฟังดูเป็นเรื่องเศร้า หากบอกว่าโครงสร้างเศรษฐกิจปัจจุบัน แค่ขยันนั้นไม่พอ พยายามเท่าไรก็ไปไม่ถึงเป้าหมาย ซึ่งแหกตำราที่เชื่อกันว่า เศรษฐีทุกวันนี้ต่างมีอดีตที่หอบเสื่อผืนหมอนใบมาตั้งตัว เพราะความขยันจึงทำให้เติบโตมาเป็นเจ้าสัวได้ อิสร์กุลชี้ว่า วิธีคิดนี้มองข้ามโครงสร้างทางเศรษฐกิจไป

“ลองลิสต์รายชื่อเจ้าสัวทั้งหมดมา สิบอันดับแรก ดูชื่อว่ามีเจ้าสัวคนไหนที่ไม่ได้มีอำนาจผูกขาดทางตลาดบ้าง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมอาหารธรรมดา เครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ ดิวตี้ฟรีสนามบิน กิจการพลังงาน กิจการโทรคมนาคม ฯลฯ ถามว่ามีอะไรที่ไม่ต้องใช้อำนาจผูกขาดที่ได้มาจากรัฐบ้าง ไม่มี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความขยันความเก่งก็จริง แต่การที่เขามาถึงจุดนี้ได้ ไม่ใช่ว่าสังคมไม่ต้องจ่ายอะไรให้เขา สังคมจ่ายไปเยอะเลย”

ทั้งนี้ แนวคิดแบบกลุ่มเสรีนิยมใหม่ (Neo-Liberalism) เชื่อว่า ถ้าธุรกิจรายใหญ่ๆ เติบโต ท้ายที่สุดแล้วผลประโยชน์ก็จะค่อยๆ ไหลรินลงมาสู่เบื้องล่าง เช่น ถ้าเศรษฐีรวยก็จะจ้างงานเยอะ คนข้างล่างก็มีกินตามกัน อย่างไรก็ตาม การพัฒนาแบบไม่เท่าเทียมนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่อาจฝังรากในสังคมไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรก ยุคที่มาพร้อมกับวลี “ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม” ที่มีเป้าหมายหลักให้ประเทศไทยรวยขึ้น 

“ถ้าจะพูดถึงว่า สังคมไทยต้องจ่ายอะไรไปบ้าง มีเยอะแยะเต็มไปหมด คือเราไม่ได้หวังจะให้คนเราโตไปพร้อมๆ กันตั้งแต่แรก เราอยากจะให้คนบางคนรวยไปก่อน แล้วก็คิดว่ามันจะส่งผลไปถึงคนอื่นๆ ในสังคม” อิสร์กุลสะท้อนแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยเมื่อเกือบ 60 ปีก่อน ซึ่งยังมีอิทธิพลมาจนทุกวันนี้ โครงการพัฒนาจำนวนไม่น้อยที่รัฐสนับสนุนจึงออกมาช่วยส่งเสริมภาคธุรกิจ กระตุ้นตัวเลขจีดีพีให้เติบโต แต่ถือเป็นคนละโจทย์กับการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้คนตัวเล็กตัวน้อย

Photo by Evan Krause https://unsplash.com/photos/6yLat1CyNx0
Photo by Evan Krause https://ift.tt/3gLQyeQ

เราจะหลุดพ้นจากจนซ้ำซากได้อย่างไร

ถ้ากลัดกระดุมเม็ดแรกผิดมาหลายทศวรรษแล้ว ตอนนี้เราหันกลับไปแก้ไขอะไรได้บ้างเพื่อให้ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำลง อิสร์กุลกล่าวว่า กลไกต่างๆ ที่พยายามทำตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า เก็บภาษีที่ดิน เก็บภาษีมรดก สร้างกลไกการแข่งขันที่เป็นธรรม แม้จำเป็น แต่อาจเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

เขาอธิบายในภาษาเศรษฐศาสตร์ว่า มันคือเรื่องของ distribution และ redistribution นั่นคือ เวลาพูดถึง distribution หมายความว่า เมื่อธุรกิจหนึ่งๆ ทำรายได้มาก้อนหนึ่ง มันควรจะตกเป็นของใครบ้าง ส่วน redistribution คือ หลังจากที่แบ่งรายได้ไปรอบแรกแล้ว ถ้ามันไม่เท่ากัน จะเกลี่ยให้มันเท่ากันได้อย่างไร

“ตัวอย่างเช่น บริษัทผู้นำด้านการค้าปลีกที่มีสาขาอยู่ทั่วทุกหนแห่งในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา รายได้โตขึ้นประมาณ 40% ถามว่ารายได้ของพนักงานทั้งหมดเพิ่มขึ้น 40% ไหม พนักงานที่ทำตามกะ สมมติว่าได้วันกะละ 100 บาท ถามว่าได้เพิ่มเป็นกะละ 140 บาทไหม ไม่มีทาง มันก็เห็นว่าพนักงานไม่ได้รวยขึ้นตาม การ distribution มันแย่ลง”

“ภาครัฐแก้ปัญหาด้วยการ redistribution เพราะปกติเจ้าของบริษัทได้เงินเยอะกว่าแน่ๆ ก็เก็บภาษีเอามาใช้จ่ายเพื่อจะกระจายรายได้ใหม่ให้คนตัวเล็กตัวน้อย ซึ่ง income redistribution เป็นวิธีการหลัก เช่น ใช้การเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ไอเดียใหม่ๆ ก็เริ่มมีการเก็บภาษาที่ดิน ภาษีมรดก แต่ทั้งหมดมันคือการ redistribution ในเมื่อการแบ่ง distribution ตอนแรกมันไม่แฟร์ จะ redistribution ยังไงก็แก้ปัญหาได้ไม่หมดอยู่ดี”

การปฏิรูปที่ดิน

อีกประเด็นคือการกระจายการถือครองที่ดิน หรือการปฏิรูปที่ดิน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ในรากฐานเศรษฐกิจไทย แต่นักวิชาการด้านความเหลื่อมล้ำมองว่า นี่เป็นเรื่องที่บานปลายเกินกว่าจะแก้ที่ต้นเหตุ

“เราเสียโอกาสที่จะปฏิรูปที่ดินไปแล้ว มันก็คงจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว”

“จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา คนที่เป็นเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิต ก็สามารถรวยขึ้นได้ เพราะหลังจากที่เป็นเจ้าของที่ดิน ก็ทำให้สามารถสะสมทุนกลายเป็นเจ้าของทุนได้ จุดที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำมีปัญหาในปัจจุบัน เพราะว่าคนที่ครอบครองปัจจัยการผลิต ไม่เคยถูกท้าทายโดยการเปลี่ยนแปลงเลย” อิสร์กุลกล่าว

Photo by Nick van den Berg https://unsplash.com/photos/VE-IZdIZa6M
Photo by Nick van den Berg https://ift.tt/3beqjwP

หากมองปัญหาความเหลื่อมล้ำผ่านมิติการเป็นเจ้าของที่ดิน ก็จะพบว่ามีคนไทยเพียงจำนวนน้อยที่เป็นเจ้าของที่ดินจำนวนมาก แม้ที่ผ่านมา ประเทศไทยอาจเคยแก้ไขกฎหมายที่ดิน ซึ่งกำหนดมาตรการบางอย่าง เช่น เก็บภาษีที่ดินสูงๆ สำหรับที่ปล่อยรกร้างว่างเปล่าไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ แต่ผลก็คือ คนก็เลี่ยงไปปลูกต้นมะนาวหรือต้นไม้ใดๆ เพื่อเลี่ยงการจ่ายภาษี นั่นทำให้การแก้ไขกฎหมายที่ดินไม่ได้พาไปสู่การปฏิรูปที่ดินได้อย่างแท้จริง

กลไกภาษี

แล้วกลไกภาษี ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้แค่ไหน นักวิชาการด้านความเหลื่อมล้ำมองว่า การเก็บภาษีมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำ แต่ว่าถ้ามองในมุมนโยบายการคลัง จะต้องทำสองส่วน “การเก็บภาษีต้องทำแบบก้าวหน้ามากๆ และสองคือ วิธีการใช้จ่าย ต้องใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ของคนระดับล่างของสังคม ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของคนระดับบนของสังคม”

อิสร์กุลชี้ว่า จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ นั่นหมายถึงวิธีคิดที่ต้องเปลี่ยน เพราะทุกวันนี้สังคมไทยยังก้าวไม่พ้นจากกรอบเดิมที่มองการพัฒนาเศรษฐกิจแบบสมัยปี พ.ศ. 2504 ที่เชื่อว่า หากจะทำให้ประเทศโต ก็ต้องเอาเงินไปลงที่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งก็เป็นมาตรการที่มักจะมาควบคู่กับการควบคุมค่าแรง ไม่ให้ค่าแรงขึ้น ปัญหาจึงต่อเนื่องไปว่า เมื่อคนงานมีค่าแรงน้อยก็ไม่มีค่าข้าวพอกิน ทางออกก็คือการไปกดราคาสินค้าเกษตร เป็นปัญหาที่กดดันกันไปเป็นทอดๆ และมุ่งเน้นให้เกิดความเหลื่อมล้ำยิ่งขึ้น และปัญหานี้ยังครบวงจรยิ่งขึ้นไปอีก หากอุตสาหกรรมนั้นๆ ไม่มีสหภาพแรงงาน ทำให้ยิ่งไม่มีกลไกต่อรองกับนายทุน และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐไทยไม่สนับสนุน

อิสร์กุลอธิบายต่อจากมุมมองแบบนักเศรษฐศาสตร์สถาบัน เขากล่าวว่า หน้าตาของ “สถาบันทางเศรษฐกิจ” จะถูกกำหนดจาก “สถาบันทางการเมือง” อีกทีหนึ่ง เช่น ทำไมเจ้าสัว นายทุนต่างๆ ถึงมีอำนาจทางเศรษฐกิจเยอะ ทำไมสถาบันเศรษฐกิจหน้าตาเป็นแบบนี้ เพราะว่าสถาบันทางการเมืองไม่เอื้ออำนวยให้คนตัวเล็กตัวน้อยเข้าไปมีอำนาจในการกำหนดนโยบายเหมือนกับเศรษฐี

หัวใจสำคัญของการแก้ปัญหานี้ จึงต้องเริ่มจากการเปลี่ยนระบบความคิดความเชื่อในสังคม “ถ้าจะถามว่าจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำยังไง แก้สถาบันทางเศรษฐกิจพอไหม? จะแก้ได้ไหม ถ้าไม่แก้สถาบันทางการเมือง จะแก้สถาบันทางเศรษฐกิจได้ไหม? แก้ไม่ได้ถ้าเราไม่เปลี่ยนชุดความเชื่อแต่แรก”

“ท้ายที่สุดแล้ว ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ตอนนี้จะใช้นโยบายการเก็บภาษีเพิ่มขึ้น แล้วก็ให้สวัสดิการคนเยอะๆ มันให้ตรงนี้ไม่ได้ มันต้องแก้ที่สถาบันทางเศรษฐกิจ ต้องแก้ไขกฎหมายผูกขาด จัดทำกฎหมายภาษีที่มันมีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้น ปรับโครงสร้างภาษีใหม่ ใช้โครงสร้างภาษีที่มาจาก VAT น้อยลง เก็บภาษีที่มาจากทรัพย์สินเพิ่มขึ้น ลดข้อลดหย่อนทางด้านภาษีต่างๆ” อิสร์กุลกล่าว

สวัสดิการของรัฐ กับ รัฐสวัสดิการ

แล้ว “สวัสดิการของรัฐ” จะช่วยสร้างสังคมที่เท่าเทียมกันได้ไหม อิสร์กุลย้ำว่า สวัสดิการของรัฐเป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ การเรียนฟรีไม่ว่าจะกี่ปีก็ตาม ช่วยได้ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ช่วยได้ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็น แต่ “สวัสดิการของรัฐ” นั้นเป็นคนละเรื่องกับ “รัฐสวัสดิการ” ซึ่งนักวิชาการท่านนี้มองมุมกลับว่า “รัฐสวัสดิการไม่ใช่ตัวแก้ความเหลื่อมล้ำ แต่ถ้าระดับความเหลื่อมล้ำต่ำพอ จึงจะสามารถสร้างรัฐสวัสดิการได้”

“รัฐสวัสดิการหมายความว่า รัฐต้องมีขนาดใหญ่พอที่จะทำให้เกิดสวัสดิการขึ้นมาในสังคมได้ ซึ่งไม่แน่ใจว่ารัฐไทยมีความสามารถขนาดนั้นหรือเปล่า เพราะตอนนี้สัดส่วนการใช้จ่ายของภาครัฐต่อ GDP คือประมาณ 20% ใช้เงินมากขนาดนี้ยังทำได้แค่นี้ ถ้าจะหวังให้เป็นรัฐสวัสดิการ ลองนึกภาพว่าถ้ารัฐเก็บภาษีเยอะกว่านี้แล้วเอาไปใช้จ่ายเยอะกว่านี้ มันจะเกิดได้จริงไหม เชื่อในรัฐขนาดนั้นไหม ตอบไม่ได้เลย

"อีกประเด็นคือ เวลาที่เราพูดถึงรัฐสวัสดิการ หมายความว่าเก็บภาษีเพื่อเอามาใช้จ่ายให้ทุกคนได้อย่างเท่าเทียม ถ้าคนรวยจ่ายภาษีมากกว่าคนจน แล้วเอาเงินนั้นมาเฉลี่ยใช้สวัสดิการร่วมกัน ก็จะพบว่า คนไม่ยอม" อิสร์กุลอธิบายว่า ปัญหาลักษณะนี้คล้ายกับเวลาที่คนส่วนใหญ่รู้สึกว่า “ทำไมต้องจ่ายประกันสังคม” และไม่ค่อยอยากจะใช้สิทธิประกันสังคมหรือสิทธิบัตรทอง แล้วหันไปเลือกใช้ประกันเอกชนแทน

“ฉะนั้น เวลาเราพูดถึงรัฐสวัสดิการ มันเป็นเรื่องใหญ่มากๆ คือมันไม่ใช่ว่ารัฐสวัสดิการช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ คุณต้องมีความเหลื่อมล้ำต่ำก่อน แล้วถึงจะสร้างรัฐสวัสดิการ การจะเป็นรัฐสวัสดิการได้ หมายความว่าคนที่จ่ายเงินกับคนที่ใช้บริการต้องเป็นคนเดียวกัน”

ในอีกทางหนึ่ง เคยมีข้อเสนอที่เคยมีเกี่ยวกับบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค คือ หากชนชั้นกลางใช้สิทธิบัตรทองกันเยอะๆ ก็อาจจะเป็นก้าวที่ดีขึ้น

อิสร์กุลขยายความเรื่องนี้ว่า “ถ้าเรามีวิถีชีวิตใกล้เคียงกัน ความเหลื่อมล้ำต่ำมากๆ รัฐบาลจะเลือกง่ายเลยว่า หากอยากแก้ไขปัญหาจราจรก็สร้างรถไฟฟ้า สร้างทางสำหรับรถจักรยาน แต่สังคมไทย คนหนึ่งมีรถ อีกคนนั่งรถเมล์ แล้วถ้ารัฐบาลไทยมีเงินหนึ่งก้อน ถามว่ารัฐบาลไทยจะเอาเงินก้อนนั้นไปทำรถเมล์หรือสร้างถนนก่อน ก็ตอบได้ยาก ถ้าเกิดความเหลื่อมล้ำยังสูงอยู่มาก สร้างรัฐสวัสดิการไม่ได้หรอก ถ้าเป็นรัฐสวัสดิการ ความเหลื่อมล้ำมันต้องน้อยพอที่รัฐบาลจะเกลี่ยผลประโยชน์ให้พอสำหรับทุกคน ซึ่งมันจะง่ายกว่าถ้าคนใช้ชีวิตเหมือนกัน” อิสร์กุลกล่าว

เรื่อง: อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา
ที่มาภาพ: Nick van den BergEvan KrauseBundo KimKin Li 

Let's block ads! (Why?)




September 01, 2020 at 05:02AM
https://ift.tt/32D5B5I

ความเหลื่อมล้ำแห่งชีวิต สำรวจปัญหา “รวยยกระดับ-จนซ้ำซาก” ในสังคมไทย - ไทยรัฐ

https://ift.tt/2Y7cf1E


Bagikan Berita Ini

0 Response to "ความเหลื่อมล้ำแห่งชีวิต สำรวจปัญหา “รวยยกระดับ-จนซ้ำซาก” ในสังคมไทย - ไทยรัฐ"

Post a Comment

Powered by Blogger.