Search

การเมืองหลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดน (10): ปัญหาการสืบราชสันตติวงศ์และการต่อรองเพิ่ม-ลดพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ - โพสต์ทูเดย์

https://ift.tt/2XZS4CW

การเมืองหลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดน (10): ปัญหาการสืบราชสันตติวงศ์และการต่อรองเพิ่ม-ลดพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์

วันที่ 27 ส.ค. 2563 เวลา 09:30 น.

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

****************

จุดอ่อนของสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญก็คือ ปัญหาการสืบราชสันตติวงศ์ ไม่ว่าจะเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นปัญหาร้ายแรง เพราะในสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อำนาจการบริหารราชการแผ่นดินทั้งหมดอยู่ที่พระมหากษัตริย์

ถ้าไม่มีผู้สืบราชสันตติวงศ์ย่อมส่งผลกระทบรุนแรงต่อการบริหารราชการและตัวระบอบการปกครอง นั่นคือ กระทบต่อการบริหารราชการทั้งหมด ในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปัญหาการสืบราชสันตติวงศ์อาจจะไม่กระทบต่อการบริหารราชการโดยตรง เพราะมีคณะรัฐมนตรี มีสภาผู้แทนราษฎรและฝ่ายตุลาการทำหน้าที่อยู่แล้ว

แม้ว่าจะไม่กระทบต่อการบริหารราชการ แต่กระทบต่อตัวระบอบด้วยเช่นกัน เพราะถ้าไม่มีผู้สืบราชสันตติวงศ์จริงๆ ก็หมายความว่า ไม่มีการสืบสานสถาบันพระมหากษัตริย์ ถ้าไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ ตัวระบอบการปกครองที่เรียกว่า “พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” ย่อมจะดำรงอยู่ต่อไปไม่ได้ การออกกฎหมายต่างๆที่จำเป็นต้องมีการลงพระปรมาภิไธยจะเกิดการชะงักงัน ยกเว้นจะมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่ไม่ใช่พระบรมวงศานุวงศ์ก็ไม่สามารถเป็นพระมหากษัตริย์ได้อยู่ดี

ดังนั้น หลายประเทศในยุโรปได้หาทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวนี้ โดยแก้กฎมณเฑียรบาลอนุญาตให้พระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้วขึ้นครองราชย์ได้ ซึ่งของอังกฤษ จะเห็นได้จากการเสด็จขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระราชินีแมรี่ที่หนึ่ง (Mary I หรือ Bloddy Mary) ในปี ค.ศ. 1553 ถือเป็นสมเด็จพระราชินีพระองค์แรก และต่อมาจนถึงปัจจุบัน อังกฤษก็มีสมเด็จพระราชินีครองราชย์อีกห้าพระองค์ นั่นคือ สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่หนึ่ง สมเด็จพระราชินีแมรี่ที่สอง สมเด็จพระราชินีแอน สมเด็จพระราชินีวิคตอเรีย และสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่สอง

                                                สมเด็จพระราชินีแมรี่ที่หนึ่งแห่งอังกฤษ

ส่วนในกรณีของสวีเดน การออกกฎหมายอนุญาตให้พระราชธิดาของพระมหากษัตริย์สามารถขึ้นครองราชย์ได้เกิดขึ้นหลังจากที่สวีเดนได้เข้าสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นรัฐสมัยใหม่ สวีเดนเข้าสู่ขั้นตอนของการเป็นรัฐสมัยใหม่ในปี ค.ศ. 1523 ในรัชสมัยของพระเจ้ากุสตาฟ วาสา (Gustav Vasa) ต่อมาในปี ค.ศ. 1604 หนึ่งปีหลังจากที่พระเจ้าชารล์ส เสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ทรงวางเงื่อนไขสัญญาใหม่ในการสืบราชสันตติวงศ์เพื่อให้การสืบสานในสายของพระองค์มีความมั่นคง รวมทั้งเงื่อนไขที่จะให้สืบทางสายสตรีได้ ส่งผลให้พระราชธิดาหรือพระบรมวงศานุวงศ์ที่เป็นสตรีมีสิทธิ์ในการขึ้นครองบัลลังก์ภายใต้ข้อตกลง “the Norrkoping Agreement 1604” แต่จะต้องยังไม่ได้เสกสมรสเท่านั้น

                                                        สมเด็จพระราชินีคริสตินาแห่งสวีเดน

ต่อมา พระเจ้ากุสตาฟที่สอง ทรงมีแต่พระราชธิดา คือ เจ้าหญิงคริสตินา หลังจากที่พระเจ้ากุสตาฟที่สองเสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 1632 เจ้าหญิงคริสตินาจึงได้เสด็จขึ้นครองราชย์ เป็น สมเด็จพระราชินีพระองค์แรกของสวีเดน ต่อมาในปี ค.ศ. 1718 พระเจ้าชาร์ลสที่สิบสองเสด็จสวรรคต และไม่มีพระราชโอรสและพระราชธิดา อีกทั้งยังเกิดปัญหาที่องค์กรทั้งสาม อันได้แก่ สภาบริหาร กองทัพและรัฐสภาไม่พอใจในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองยุติระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

จากการต่อรองขององค์กรสามฝ่ายกับเจ้าหญิง Ulrika Leonora พระขนิษฐภคินีของพระเจ้าชาร์ลส์ที่สิบสองในทำนองที่ว่า หากพระองค์ต้องการเป็นสมเด็จพระราชินีสวีเดน (ขณะนั้น ผู้มีสิทธิ์ในการสืบราชสันตติวงศ์อีกพระองค์หนึ่งคือ Charles Fredrick พระราชนัดดาของพระเจ้าชาร์ลส์ที่สิบสอง) พระองค์จะต้องลงนามในสัญญาทางการเมือง (political contract) ยกเลิกพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ในแบบสมบูรณาญาสิทธิ์ และยอมรับอำนาจของรัฐสภาและสภาบริหาร และก็เป็นที่มาของสมเด็จพระราชินีพระองค์ที่สองของสวีเดนพร้อมๆกับการยุติระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

แต่ต่อมาเพียงหนึ่งปี สมเด็จพระราชินี Ulrika Leonora ไม่สามารถปรับพระองค์กับกรอบพระราชอำนาจใหม่ได้ พระองค์จึงสละราชสมบัติ และรัฐสภาได้ลงมติตามจารีตประเพณีการปกครองสวีเดนให้ Frederick พระสวามีของพระนางที่ไม่ได้เป็นชาวสวีเดนขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ แต่ปัญหาการสืบราชสันตติวงศ์ยังคงอยู่ เพราะ Frederick I และพระนาง Ulrika Leonora ไม่มีพระราชโอรสและพระราชธิดา และเมื่อพระนาง Ulrika Leonora สิ้นพระชนม์ลงอย่างกะทันหันในปี ค.ศ. 1741 ทำให้รัฐสภาต้องพิจารณาผู้ที่จะมาเป็นว่าที่ผู้สืบราชสันตติวงศ์ และมีสมาชิกสภาที่ต้องการให้กลับไปที่ Charles Frederick อีกครั้งหนึ่ง

โดยสมาชิกสภาที่ว่านี้รู้จักกันในนามของกลุ่มโฮลสไตน์ (Holstein) เพราะ Charles Frederick ทรงเป็นเจ้าชายครองแคว้นโฮลสโตน์ ส่วนทางฝ่ายรัสเซีย หลังจากที่ชนะสงครามกับสวีเดนภายใต้รัฐบาลใหม่ในยุคหลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่คนสวีเดนเรียกขานกันว่ายุคแห่งเสรีภาพ ก็วางเงื่อนไขกับสวีเดนในการเจรจาสันติภาพ โดยทางรัสเซียต้องการให้ Adolf Frederick (กรุณาอย่างงกับชื่อ Frederick ที่มากมายของเจ้าสวีเดน !) เพราะมีสายสัมพันธ์กับรัสเซียมากกว่าทางฝั่งของ Charles Frederick ซึ่งรัฐบาลสวีเดนในขณะนั้นที่อยู่ภายใต้การนำของ Arvid Horn ต้องยอมตามเงื่อนไขของรัสเซีย

แต่ต่อมาหลังจากที่การเมืองภายในสวีเดนเปลี่ยนขั้วอำนาจ โดยพรรคการเมืองที่มีชื่อว่า the Hat (ดูตอนที่แล้ว) ได้ชัยชนะและโค่นล้ม Horn ได้ แต่พรรค the Hat มีความสัมพันธ์กับอังกฤษและฝรั่งเศส และไม่ได้ต้องการเป็นมิตรกับรัสเซีย แต่ก็ตระหนักว่า หาก Frederick I สวรรคต Adolf Frederick ก็จะขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์และมีสายสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกับรัสเซีย ดังนั้น the Hat จะต้องหาทางสลายสายสัมพันธ์ระหว่าง Adolf Frederick กับรัสเซียให้ได้ให้หันมาฝักใฝ่ฝรั่งเศสและอังกฤษตามนโยบายต่างประเทศของ the Hat

วิธีการสลายสัมพันธ์ระหว่าง Adolf Frederick กับรัสเซียเพื่อให้หันมามีสัมพันธ์ที่ดีกับ the Hats ก็คือ the Hat ได้ต่อรองให้สัญญาแบบไม่เป็นทางกับ Adolf Frederick และ Louisa Ulirika พระชายาว่า เมื่อ Adolf Frederick เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อใด the Hat ในฐานะที่ครองเสียงข้างมากในรัฐสภาจะให้มีการประชุมพิจารณาแก้ไขกฎหมายเพิ่มพระราชอำนาจให้พระมหากษัตริย์

แล้วรัสเซียจะยอมหรือ ? โปรดติดตามตอนต่อไป

**********************

Let's block ads! (Why?)




August 27, 2020 at 09:32AM
https://ift.tt/3b2dghz

การเมืองหลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดน (10): ปัญหาการสืบราชสันตติวงศ์และการต่อรองเพิ่ม-ลดพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ - โพสต์ทูเดย์

https://ift.tt/2Y7cf1E


Bagikan Berita Ini

0 Response to "การเมืองหลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดน (10): ปัญหาการสืบราชสันตติวงศ์และการต่อรองเพิ่ม-ลดพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ - โพสต์ทูเดย์"

Post a Comment

Powered by Blogger.