Search

โพรไบโอติกส์กับปัญหาท้องผูก - หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://ift.tt/2XZS4CW

วันพุธ ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2563, 06.00 น.

ช่วงอยู่บ้านไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย เด็กหรือผู้ใหญ่ก็เจอปัญหาท้องผูกเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น มีวิจัยพบว่าปัญหาท้องผูกเกิดขึ้นประมาณ 20% ของประชากร โดยขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น กลุ่มประชากร การสุ่มตัวอย่างและคำจำกัดความของคำว่า ท้องผูก โดยปกติแล้วอาการท้องผูกพบมากในผู้หญิงที่มีอายุมากขึ้น

ข้อมูลจาก อ.ศัลยา คงสมบูรณ์เวช นักกำหนดอาหารขึ้นทะเบียนวิชาชีพ (สหรัฐอเมริกา) และกรรมการมูลนิธิคุณแม่คุณภาพ เปิดเผยว่าคนส่วนใหญ่อาจคิดว่าท้องผูกเป็นเรื่องธรรมดาจึงมักไม่ให้ความสนใจที่จะแก้ปัญหาภาวะท้องผูกอย่างจริงจัง ซึ่งในความเป็นจริง การปล่อยให้เกิดภาวะท้องผูกเรื้อรังนั้น อาจทำให้เกิดโรคตามมาได้ เช่น โรคริดสีดวงทวาร และเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งลำไส้เป็นต้น โดยเฉพาะหนุ่มสาววัยทำงานที่ต้องเผชิญภาวะเครียดรับประทานอาหารที่มีกากใยและน้ำน้อย ไม่ค่อยมีเวลาออกกำลังกาย
ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการขับถ่ายโดยตรง อยากมีสุขภาพดีต้องหมั่นดูแลตนเองอยู่เสมอ อย่าให้ท้องผูกเป็นประจำ


สาเหตุภาวะท้องผูกอาจเกิดจากความผิดปกติของร่างกายหรือโรคทางลำไส้ เช่น การอุดตันของลำไส้ มะเร็งลำไส้ หรือมีความผิดปกติของเส้นประสาทที่ควบคุมการถ่าย หรือการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคลายความวิตกกังวลยากล่อมประสาท ยารักษาอาการซึมเศร้าและโรคจิต เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่อาการท้องผูกมักเกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุการผิดปกติทางร่างกาย แต่ที่พบบ่อยมักเป็นผู้ที่รับประทานอาหารที่มีกากใยอาหารน้อย หรือไม่ชอบรับประทานผัก ผลไม้ หรือดื่มน้ำน้อยเกินไป รวมถึงผู้ที่ชอบกลั้นอุจจาระบ่อยๆ เป็นประจำ

สำหรับการบำบัดอาการท้องผูกทำได้ 2 วิธี คือ การใช้ยาและการไม่ใช้ยา แต่วิธีที่ดีกว่า คือการไม่ใช้ยา แต่อาจจะใช้ได้เฉพาะในกรณีที่ภาวะท้องผูกไม่รุนแรง การบำบัดอาการท้องผูกโดยการใช้ยาระบายนั้นพบว่าคนส่วนใหญ่ยังมีพฤติกรรมการใช้เกินความจำเป็น เช่น เมื่อเกิดภาวะท้องผูกก็จะใช้ยาระบายทุกครั้ง หรือผู้หญิงบางคนก็ใช้ยาระบายเพื่อลดน้ำหนักซึ่งเป็นพฤติกรรมการใช้ยาที่ไม่ถูกต้องและอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ข้อแนะนำจากเภสัชกรในการใช้ยาระบายนั้น ไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน1 สัปดาห์ โดยเฉพาะยาระบายกลุ่มที่กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้เพื่อหลีกเลี่ยงการติดยาและการเกิดกลุ่มอาการท้องผูกสลับท้องเสีย ซึ่งจะทำให้การทำงานของระบบขับถ่ายทำงานผิดปกติ ฉะนั้นการใช้ยาระบายทุกชนิด ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้ลำไส้ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ส่งผลให้ต้องใช้ยาระบายตลอด ไม่สามารถขับถ่ายอุจจาระได้เองตามปกติ ดังนั้น เมื่อเกิดภาวะท้องผูกและมีความจำเป็นต้องใช้ยาระบาย ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอเพื่อเลือกชนิดของยาระบายให้เหมาะสม

สำหรับข้อแนะนำการบำบัดอาการท้องผูกโดยไม่ต้องใช้ยา คือ การเลือกรับประทานอาหารที่มีเส้นใยมากๆ ได้แก่ ผัก ผลไม้ เช่น ผักคะน้าผักกวางตุ้ง ผักโขม ข้าวกล้อง ข้าวโพดฟักทอง งา แครอท พรุน ส้ม มะละกอ ธัญพืชไม่ขัดสีต่างๆ เผือก มัน ลูกเดือย ถั่ว เป็นต้น ควรดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และควรฝึกนิสัยการขับถ่ายให้เป็นเวลา โดยอาจเป็นช่วงเย็นหรือช่วงเช้าก็ได้ เพื่อให้ลำไส้เกิดความเคยชินกับการขับถ่ายเป็นเวลา

ถ้าพูดถึงจุลินทรีย์เรามักจะคิดว่าแบคทีเรียเป็นเชื้อโรคที่ไม่ดีแต่จุลินทรีย์ที่ดีก็มีไม่น้อย และเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ในร่างกายของคนเรามีทั้งจุลินทรีย์ที่ดี และจุลินทรีย์ก่อโรคที่อาศัยอยู่ในระบบย่อยเราต้องการจุลินทรีย์ที่ดีในระบบย่อยเรามากกว่าจุลินทรีย์ก่อโรคเพื่อสร้างสมดุลในระบบย่อย ในลำไส้ของมนุษย์เรามีจุลินทรีย์ประมาณ 500 สายพันธุ์ จุลินทรีย์ที่ดีให้ประโยชน์ต่อสุขภาพขณะที่บางชนิดที่ไม่ดีเป็นอันตรายและสร้างปัญหาให้สุขภาพ มีปัจจัยมากมายที่มีผลต่อชนิดและปริมาณจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในลำไส้ เช่น อายุ ความต้องการสารอาหาร ยาปฏิชีวนะ ความเครียด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และความเป็นกรดและด่างของสภาวะในลำไส้ ระยะเวลาและสารที่ตกค้างในลำไส้

โพรไบโอติกส์ (Probiotics) คือ เชื้อจุลินทรีย์ที่ดีซึ่งอาศัยอยู่ในลำไส้เล็กของคนเรา โพรไบโอติกส์อาจจะอยู่ในรูปอาหารหรือจุลินทรีย์ที่มีชีวิตซึ่งรับประทานในปริมาณที่เพียงพอจะให้ประโยชน์แก่ร่างกายและยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่ก่อโรคโดยการปรับสมดุลของเชื้อจุลินทรีย์ภายในลำไส้ จุลินทรีย์ที่จัดเป็นโพรไบโอติกส์มีมากมายหลาย ทำหน้าที่แตกต่างกันในร่างกายในการป้องกันโรค เชื้อจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติเป็นโพรไบโอติกส์ เช่น แลคโตแบซิลัส แอซิโดฟิลลัส แลคโตแบซิลัสเฮลวิทิคัส แลคโตแบซิลัส เคไซแลคโตแบซิลัส บูลการิคัส แลคโตเบซิลัสรูเทไร แลคโตแบซิลัส จีจี บิฟิโดแบคทีเรีย เป็นต้น

หลักฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันเปิดเผยว่าจุลินทรีย์ที่ดีก็มีไม่น้อย และเราสามารถที่จะใช้จุลินทรีย์ที่ดีในการป้องกันหรือรักษาโรคได้โดยใช้ร่วมกับอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่มีแบคทีเรียชนิดที่ดีที่ยังมีชีวิต คำว่า Probiotics มาจากคำว่า “pro และ biota” หมายถึง “เพื่อชีวิต หรือเพื่อส่งเสริมชีวิต” ในชีวิตประจำวันเรารับประทานอาหารหมักด้วยเชื้อจุลินทรีย์อยู่แล้ว เช่น โยเกิร์ต หรือในรูปนมหมักหรือนมเปรี้ยว (sour milk) คีเฟอร์ (Kefir) คูมิส (Koumiss) เป็นเครื่องดื่มสุขภาพ (functional drink) ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมมากในประเทศญี่ปุ่น สำหรับอาหารอื่นๆที่มีโพรไบโอติกส์ ได้แก่ ชีส กิมจิ ถั่วเน่ากะปิ เต้าเจี้ยว มิโซะ ซาวเคราท์ (Sauerkraut)หรือกะหล่ำปลีเปรี้ยว เครื่องดื่มผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองบางชนิด เป็นต้น

ในร่างกายของคนเรานั้นมีจุลินทรีย์ทั้งชนิดที่ดีและไม่ดีปะปนกันมากมาย ในคนที่มีสุขภาพดีจะมีจุลินทรีย์ประมาณ 5 พันล้าน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นจุลินทรีย์ที่ดีที่พบได้ในระบบทางเดินอาหารโดยจะช่วยให้ระบบย่อยทำงานได้ดี จุลินทรีย์ที่ดีจะแย่งสารอาหารจากเชื้อที่ไม่ดี จึงลดจำนวนเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค ลักษณะเช่นนี้เป็นการสร้างสภาวะสมดุลทางระบบนิเวศของจุลินทรีย์ในลำไส้ และช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันในระบบทางเดินอาหาร หากระบบทางเดินอาหารมีเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคมากกว่าชนิดที่ดีก็จะก่อให้เกิดปัญหาท้องผูกท้องเสีย และระบบทางเดินอาหารผิดปกติและติดเชื้อง่าย งานวิจัยพบว่าเชื้อแบคทีเรียที่ดียังช่วยลดปัญหาในระบบทางเดินอาหารโดยช่วยย่อยน้ำตาลแลคโตส ช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็กและแคลเซียมให้ดีขึ้นเพิ่มภูมิต้านทานทำให้ร่างกายแข็งแรงไม่ติดเชื้อหรือเป็นโรคง่าย

การรักษาสุขภาพให้ดีอย่าให้ท้องผูกเรื้อรังด้วยการรับประทานผักและผลไม้ในปริมาณที่เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว การออกกำลังกาย
อย่างสม่ำเสมอ และควรฝึกนิสัยการขับถ่ายให้เป็นเวลา หรือร่วมกับการใช้โพรไบโอติกส์อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือก

ผศ.(พิเศษ)ดร.อภิสิทธิ์ ฉัตรทนานนท์

ประธานกรรมการ มูลนิธิคุณแม่คุณภาพ

Let's block ads! (Why?)




June 17, 2020 at 06:00AM
https://ift.tt/37DHiXf

โพรไบโอติกส์กับปัญหาท้องผูก - หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://ift.tt/2Y7cf1E


Bagikan Berita Ini

0 Response to "โพรไบโอติกส์กับปัญหาท้องผูก - หนังสือพิมพ์แนวหน้า"

Post a Comment

Powered by Blogger.